ในรอบสัปดาห์นี้มีข่าวใหญ่ในวงการโทรคมนาคม นั่นคือการควบรวมกันระหว่างค่ายโทรศัพท์มือถือ “ทรู-ดีแทค” จึงถูกสังคมตั้งข้อกังวลมากมาย ว่าจะกระทบกระเทือนต่อผู้บริโภคหนักกว่าการควบรวมในธุรกิจค้าปลีกเสียอีก

นักวิชาการ “ทีดีอาร์ไอ” และองค์กรผู้บริโภคออกมายำเละ! เพราะหวั่นว่าธุรกิจโทรคมนาคมจะเป็นการผูกขาด เหลือเพียง 2 ค่ายเท่านั้น ขณะที่พนักงาน “ทรูดีแทค” ก็ผวาเหมือนกัน เพราะเกรงว่าการควบรวมครั้งนี้ จะลามไปถึงการยุบศูนย์บริการต่าง ๆ อาจทำให้พนักงานต้องตกงานไปด้วย

แม้แต่คนสร้างค่ายมือถือรายใหญ่สุด “เอไอเอส” มากับมืออย่าง โทนี่ วู้ดซัม (ทักษิณ ชินวัตร) ยังให้ความเห็นว่าถ้าทุนใหญ่จะควบรวมกิจการกัน อาจนำไปสู่การครอบงำตลาด บางทีต้องขออนุญาต “สภา” เลยนะ แต่ที่ประเทศไทยคงไม่ต้อง เพราะไม่มีชื่อทักษิณ ถ้ามีชื่อทักษิณ เขาเอาตายเลย!

วันก่อนพรรคพวกเล่าให้ฟังว่าที่เมืองจีน มีหน่วยงานหนึ่งกำลังสร้างความหวาดผวาให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ นั่นคือ สำนักบริหารการกำกับดูแลตลาดแห่งรัฐของจีน (SAMR) ผลงานหลังสุดเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา SAMR เพิ่งลงดาบปรับเงินยักษ์ธุรกิจจัดส่งอาหารรายใหญ่ “เหม่ยถวน” เป็นเงินกว่า 3,442 ล้านหยวน หรือกว่า 18,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3% ของรายได้ในรอบปี 63 ของเหม่ยถวน

ด้วยฐานความผิด “ใช้อำนาจเหนือตลาด” บีบบรรดาผู้จัดจำหน่ายอาหารให้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือที่มีลักษณะผูกขาด และเรียกเก็บเงินมัดจำจากผู้จำหน่ายอาหาร รวมทั้งใช้นโยบาย “เลือกหนึ่งจากสอง” เพื่อจำกัดและกีดกันคู่แข่งในตลาด พร้อมกับสั่งให้เหม่ยถวน คืนเงินมัดจำกว่า 1,000 ล้านหยวน (6,000 ล้านบาท) ให้แก่ผู้จำหน่ายอาหาร รวมทั้งแก้ไขข้อผิดพลาดต่าง ๆ ให้ครบถ้วน

อาลีบาบาไม่อุทธรณ์รัฐบาลจีน เตรียมจ่าย 8 หมื่นล้านบาท | เดลินิวส์

ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนยกระดับการต่อต้านการผูกขาด โดยสั่งเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตรวจสอบบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และดูแลการแข่งขันในตลาดให้เกิดความเป็นธรรม โดยก่อนหน้านี้ SAMR สร้างความฮือฮาด้วยการสั่งปรับมหาเศรษฐี “แจ๊ค หม่า” เจ้าพ่อแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ใหญ่ที่สุดอย่าง “อาลีบาบา” ไปหลายพันล้านหยวน โทษฐานจำกัดทางเลือกผู้บริโภค

หน่วยงาน SAMR ของจีน ก็คล้าย ๆ กับสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ของไทย แต่เรากลับเจอเรื่องการใช้ “อำนาจเหนือตลาด” เกิดขึ้นในหลายกลุ่มธุรกิจ จนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วมั้ง? ไม่ว่าจะเป็นการกินรวบในธุรกิจน้ำเมา ขายเหล้าพ่วงเบียร์-โซดา ขายเบียร์พ่วงน้ำ ฟาดกำไรกันมหาศาล ท่ามกลางความย่อยยับของธุรกิจเล็ก ๆ

ไม่ต้องพูดถึงธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ก็ปล่อยให้ควบรวมกิจการกัน จนมีอำนาจเหนือตลาดมากขึ้นไปอีก เพราะมีส่วนแบ่งการตลาดเกิน 50% โดยที่ กขค.ได้แต่นั่งอ้าปากหวอ ทำตาปริบ ๆ ปราศจากมาตรการปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคโดยสิ้นเชิง

แต่กับธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมที่หลอมรวมจนแทบจะแยกไม่ออกจากธุรกิจอื่น ๆ แล้วมีกลุ่มมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาอาศัยใบบุญส่งข้อความเอสเอ็มเอส ส่งข้อความปล่อยกู้ยืมเงิน ข้อความหลอกลวงล้วงกระเป๋า ล้วงบัญชีลูกค้าสารพัดรูปแบบ โดยไม่รู้ว่าจะสกัดกั้นกันอย่างไร เพราะแฝงเข้ามาในทุกช่องทาง สกัดกั้นตรงนี้ ก็ไปโผล่ตรงโน้นด้วยวิธีการใหม่ ๆ แต่หน่วยงานรัฐกลับขยันขันแข็งมาก! จะบังคับใช้กฎหมายเพื่อเล่นงานผู้ประกอบการเสียให้ได้!

แต่กับทุนใหญ่ของเจ้าสัวกลับทำเป็นเงียบกริบ! ตั้งแต่การใช้อำนาจเหนือตลาดน้ำเมา บีบจน “กระแช่-สาโท-ไวน์” ของวิสาหกิจชุมชนหน้าเขียว! ไหนจะอำนาจเหนือตลาดการค้าปลีก-ค้าส่ง แถมกำลังแผ่อิทธิพลเพื่อช่วงชิงอำนาจเหนือตลาดโทรศัพท์มือถือกันอีกแล้ว ผู้บริโภคต้องหลังแอ่นนับตั้งแต่มีรัฐประหารเรื่อยมานี่แหละ!!.

—————————–
พยัคฆ์น้อย