ทันทีที่ตัดสินใจ “กด” เข้าไปตามคำชี้ชวน “ลงทุนง่าย” รายได้วันละ 5,000 บาท หรือ “สินเชื่อ” กู้ง่าย ผ่อนสบาย ใช้บัตรประชาชนใบเดียว ถูกกฎหมาย รู้ผลไว้ อนุมัติเร็วทันใจ ไม่ต้องค้ำประกัน 

นั่นหมายถึงหายนะทั้งการเงิน และชีวิต เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคอของแท้!!!

โดยเฉพาะ “เทคนิค” หลอกให้โอนเงินไปก่อน ทั้งที่ไม่มีอะไรการันตี แต่มี “ผู้เสียหายรายวัน” โอนไปให้จริงๆ

ที่ผ่านมาแอพเงินกู้มักใช้วิธีปล่อยกู้วงเงินหลักพัน ดอกเบี้ยสูง ต้องจ่ายคืนภายใน 7 วัน ผิดนัดชำระเรียกเก็บทบต้นทบดอก ทวงหนี้โหด ได้วงเงินไม่เต็มจำนวนเพราะถูกหักค่าธรรมเนียม แต่ก็ได้เงินจริง

ขณะที่อีกกรณีปล่อยกู้วงเงินสูง หลักหมื่นถึงหลักแสน เพื่อล่อใจ แต่มีเงื่อนไขต้องโอนเงินส่วนหนึ่งไปให้ก่อน เป็นค่าธรรมเนียน ค่ารหัส และอีกสารพัด แล้วจะทบคืนให้พร้อมเงินกู้ กลุ่มนี้ไม่ปล่อยกู้จริง เน้นหลอกเงินผู้เสียหายโอนเงินแล้วปิดจ๊อบ 

หลุมพรางมิจฉาชีพนี้ ปัจจุบันระบาดหนักข้อที่น่าตกใจคือบางราย เดินติดกับทั้งเว็บไซต์หลอกลงทุน และเงินกู้ออนไลน์ 

หนึ่งตัวอย่างผู้เสียหายที่เกิดขึ้นจริงเมื่อเร็ว ๆ นี้ เป็นหญิงอายุ 35 ปี อาชีพทำงานบริษัท หลงเข้าเว็บไซต์หลอกร่วมลงทุนออนไลน์ ที่พบจากการโฆษณาในเว็บไซต์ทั่วไป ชวนลงทุนรายได้วันละ 5,000 บาท มีการกรอกข้อมูลลงทะเบียนก่อนถูกดึงเข้ากรุ๊ปไลน์ (Line)

ช่วงแรกลงทุนหลักร้อยก่อนถูกดึงเปลี่ยนกลุ่มและมีแพ็กเกจเพื่อลงทุนตามภารกิจ เริ่มจากลงทุน 5,000 บาท ได้กำไร 1,000 บาท ยังไม่ได้เงินคืน ให้ลงทุนเพิ่มอีก 15,000 บาท จะได้คืน 22,000 บาท ก็ยังไม่ได้เงินคืน ให้โอนเพิ่มอีก 60,000 บาท จะได้เงินคืนกลับมา 9,000 บาท แต่โอนแล้วก็ยังไม่ได้เงินคืน

กระทั่งสุดท้ายถูกหลอกให้โอนไปอีก 130,000 บาท เพื่อจบภารกิจรับเงิน 300,000  บาท แต่ผู้เสียหายไม่มีเงินโอนเพิ่ม พยายามติดต่อขอเงินคืนแต่ปลายทางยืนยันต้องทำภารกิจให้เสร็จก่อน รวมแล้วภายใน 1 วันโอนไป 3 ครั้ง เป็นเงิน 80,000 บาท

และเมื่ออยากได้เงินที่ลงทุนไปคืน จึงหันไปหาแอพเงินกู้ที่ปล่อยกู้วงเงินสูง ระบุวงเงินกู้ 130,000 บาท หลังระบบอนุมัติ รับแจ้งให้โอนเงิน 10 เปอร์เซ็นต์ของวงเงินกู้ (13,000 บาท) โอนแล้วยังไม่ได้รับเงิน อ้างข้อมูลผิด ต้องโอนเงินกลับไปเพื่อแก้ไขข้อมูลอีก 35,000 บาท จากนั้นก็ยังถูกหลอกโอนค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งค่ายืนยันการถอนคล้ายเป็นรหัสถอนเงิน ค่าประกัน

จากที่ทำเรื่องกู้วงเงิน 130,000 บาท ทั้งที่ยังไม่ได้เงินสักบาท โอนไปโอนมาภายในวันเดียว เงินที่เสียไปกลับมากกว่ายอดเงินที่ขอกู้!!!

ยังไม่จบผู้เสียหายรายนี้นอกจากเสียเงิน ยังถูกข่มขู่จากแอพเงินกู้ให้โอนเงินที่เหลือไปเพิ่ม เมื่อไม่ได้เงินก็ใช้วิธีทำลายชื่อเสียงนำภาพผู้เสียหายที่ถือบัตรประชาชนไปทำภาพที่มีพื้นหลังคล้ายประกาศจับของทางราชการ ข่มขู่ดำเนินคดีฉ้อโกง

อีกรายผู้เสียหายเป็นหญิง อายุ 49 ปี สมัครกู้เงินผ่านแอพ ที่เห็นโพสต์ตามเฟซบุ๊ก เพื่อทำเรื่องกู้วงเงิน 50,000 บาท แต่สุดท้ายถูกหลอกโอนเงินไป 11 ครั้ง เกือบ 70,000 บาท มากกว่ายอดกู้ที่ไม่ได้จริงสักบาทเสียอีก

เทคนิคที่ใช้ไม่ต่างกัน หลังระบบอนุมัติจะอ้างให้โอนเงินเป็นค่าเอกสาร ค่าเปอร์เซ็นต์ตามยอดเงินกู้ และต่อรองให้โอนเงินเพิ่มไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด จนกว่าผู้เสียหายจะรู้ตัว หรือสุดสายป่านไม่สามารถหาเงินมาโอนเพิ่มได้แล้ว 

จากสถิติของ ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.)

ตั้งแต่วันที่ 1..63 ถึงปัจจุบัน รับร้องเรียนการกระทำความผิดเกี่ยวกับเงินกู้นอกระบบกว่า 4,200 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จกว่า 3,400 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการกว่า 800 เรื่อง ในจำนวนที่พบส่วนใหญ่มีพฤติกรรมเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา, แอพกู้เงินออนไลน์ และการทวงหนี้ผิดกฎหมาย

ผู้เสียหายรายวันน่าจะบ่งบอกได้ถึงสถานการณ์ที่ลำพังอาศัยความเท่าทัน แต่ละคนก็มีไม่เท่ากัน มาตรการภาครัฐต้องเข้ามามีบทบาทให้มากขึ้นตามวิกฤติ โดยเฉพาะสกัดกั้นการมองเห็นสื่อโฆษณาเหล่านี้ให้เด็ดขาด เพราะชัดเจนว่าเจตนา “มิจฉาชีพ” ไม่ใช่ “ประกอบอาชีพ”

ตราบใดที่มองเห็นง่าย เข้าถึงง่าย ผู้เสียหายก็เกิดขึ้นง่าย ๆ อย่างที่เห็นกันอยู่.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]