เชื่อว่าหลายๆ ในช่วงที่ระบบความเย็นรถยนต์มีปัญหา ท่านอาจเคยถูกช่างที่ไร้จรรยาบรรณ ถือโอกาสแจ้งเปลี่ยนคอมเพรสเซอร์แอร์ ทั้งที่ความจริงแค่ “คลัตช์คอมเพรสเซอร์” เสียเท่านั้น ซึ่งการที่ระบบแอร์รถยนต์ไม่เย็น เกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะน้ำยาขาด-รั่วซึมในระบบ-คอมเพรสเซอร์เสียหาย-ชุดคลัตช์คอมเพรสเซอร์ ชำรุดเสียหายเท่านั้น

สำหรับ “ชุดคลัตช์คอมเพรสเซอร์แอร์” ประกอบด้วย 1. แผ่นหน้าคลัตช์ 2. พูเล่ย์ 3.ลูกปืนพูเล่ย์ 4. แมกเนติกคลัตช์ (คอลย์แม่เหล็กไฟฟ้า) มีหน้าที่ เป็นตัวตัด/ต่อการทำงานของคอมเพรสเซอร์ โดยจะทำงานด้วยหลักการของแม่เหล็กไฟฟ้า กล่าวคือปกติพูลเล่ย์คอมเพรสเซอร์แอร์ จะหมุนตลอดเมื่อติดเครื่องยนต์ เนื่องจากมีสายพานโยงไว้กับพูลเล่ย์เครื่องยนต์ แต่คอมเพรสเซอร์แอร์ยังไม่ทำงาน ซึ่งเมื่อเปิดแอร์ กระแสไฟจะถูกส่งไปยัง คอลย์แม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อสร้างแรงดูดแผ่นหน้าคลัตช์ ให้ติดและหมุนไปพร้อมกับ พูลเล่ย์ ส่งผลให้ระบบภายในคอมเพรสเซอร์ซึ่งเชื่อมต่อกับแผ่นหน้าคลัตช์ทำงาน และเมื่อความเย็นถึงระดับที่ตั้งไว้กระแสไฟจะถูกตัดออก แผ่นหน้าคลัตช์ จะจากออกพูลเล่ย์ โดยจะทำงานเป็นวัฏจักรเช่นนี้จนกว่าเราจะปิดแอร์

อาการชุดคลัตช์คอมเพรสเซอร์แอร์เสีย

-แอร์ไม่เย็น โดยที่น้ำยาไม่ขาดหรือคอลย์แม่เหล็กไฟฟ้า เสียหาย
-แอร์เย็นบ้างไม่เย็นบ้าง โดยที่น้ำยาไม่ขาดหรือคอลย์แม่เหล็กไฟฟ้า เสื่อมทำงานบ้างไม่ทำงานบ้างหรือ แผ่นหน้าคลัตช์สึกหรอจนมีระยะห่างจากพูเล่ย์ มากเกินไป
-มีเสียงดังที่ ชุดคลัตช์คอมเพรสเซอร์แอร์ ทั้งเปิดและปิดแอร์ เกิดจากลูกปืนพูเล่ย์ ชำรุดเสียหาย

แนวทางการซ่อมแซม
-ช่างต้องมีความชำนาญ วิเคราะห์ปัญหาได้ตรงจุดว่าสาเหตุที่แอร์ไม่เย็นเกิดจากตัวคอมเพรสเซอร์ หรือชุดคลัตช์คอมเพรสเซอร์ ชำรุดเสียหาย นอกจากนี้ช่างบางท่าน สามารถเปลี่ยนชุดคลัตช์คอมเพรสเซอร์ ได้โดยไม่ต้องปล่อยน้ำยาแอร์ทิ้ง โดยมีข้อดีคือประหยัดค่าน้ำยาแอร์
-การติดตั้งชุดคลัตช์คอมเพรสเซอร์แอร์นั้นอาจดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่ต้องอาศัยทักษะและความชำนาญเนื่องจากการตั้งระยะห่างของหน้าสัมผัสระหว่างพูเล่ย์และแผ่นหน้าคลัตช์ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต้องตั้งให้ได้ระยะที่เหมาะสม และหน้าสัมผัสสนิท ซึ่งรถแต่ละรุ่นก็มีระยะการตั้งที่ต่างกัน หากติดตั้งไม่ดีแล้ว แอร์อาจไม่เย็น หรืออายุการใช้งานสั้นลง และที่สำคัญจะทำให้คอมเพรสเซอร์เสียหายตามมาอีกด้วย

-หากแผ่นหน้าคลัตช์หรือพูเล่ย์ มีอาการลื่นเพราะมีน้ำมันอยู่บริเวณหน้าสัมผัส ต้องหาที่มาของน้ำมันดังกล่าวก่อนเช่น คอมเพรสเซอร์รั่ว หรือ ชิ้นส่วนอื่นๆ รั่ว ทำให้น้ำมันไหลมาบริเวณคลัตช์คอมเพรสเซอร์แอร์ หากเปลี่ยนไปโดยไม่แก้ไขต้นตอของสาเหตุ ก็จะเกิดอาการลื่นซ้ำอีกครับ…

…………………………….
คอลัมน์ : รู้ก่อนเหยียบ
โดย “ช่างเอก”
ติดต่อสอบถามข้อมูลโดยตรงที่ [email protected]