หลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ยาเสพติดฉบับใหม่ ไปเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 64 ที่ผ่านมา โดยเน้นตามกรอบแนวคิด ไล่ตั้งแต่ 1.กรอบนโยบายและแผนระดับชาติ ว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด การจัดโครงสร้างและกลไกในการบริหารจัดการปัญหายาเสพติดของประเทศ 2.กรอบนโยบายตัวยาเสพติด การนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ อย่างเหมาะสม  3.กรอบการมองปัญหาผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติด ในมิติของปัญหาด้านสาธารณสุขและสุขภาพ มิใช่ถือว่าเป็นปัญหาทางอาชญากรรมอย่างเดียว ให้โอกาสและสงเคราะห์ 4.กรอบนโยบายทางอาญาในการลงโทษผู้กระทำผิด แยกเป็นกลุ่ม นายทุน แรงงาน และเหยื่อ 5.กรอบการดำเนินการต่อการทำลายโครงสร้าง หรือเครือข่ายการค้ายาเสพติดที่สำคัญ มากกว่าการดำเนินการจับกุมกับ กลุ่มแรงงาน แยกคดีทรัพย์สิน ไม่ผูกติดกับผลคดีอาญา และให้ริบทรัพย์สินตามมูลค่า

“ผู้ค้ารายใหญ่” ยังจับกุมได้น้อย

พ.ร.บ.ยาเสพติดฉบับใหม่ จึงถือเป็นการท้าทายและต้องปรับตัวการทำงานของเจ้าหน้าที่ในระดับผู้ปฏิบัติการเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่เพื่อให้มาตรการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเป็นไปแบบบูรณาการและสอดคล้องกับความเป็นจริง ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้พูดคุยกับ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล รองอธิการบดีฯ และประธานกรรมการสถาบันอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ถึงมุมมองเรื่องนี้ว่า ช่วง 20 ปีปัญหายาเสพติด ยังคงเป็นอีกปัญหาอันดับหนึ่งของประเทศ ที่นโยบายกฎหมายทางอาญายังแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ หากย้อนข้อมูลดูใน 10 ปีพบว่า ผู้ต้องขังในเรือนจำ 70–80% เป็นผู้ต้องขังคดียาเสพติด โดยเฉพาะคดียาบ้า เฉลี่ยจะมีผู้ต้องโทษเกี่ยวกับคดียาเสพติด ปีละ 2 แสนคน และยังพบว่าในรอบ 3 ปี มีกว่า 20% ที่ผู้ต้องหาเมื่อพ้นโทษไปแล้ว กลับมาทำความผิดซ้ำ  

หากไปย้อนดูการดำเนินคดียาเสพติดเกี่ยวกับ ผู้ค้ารายใหญ่ พบว่ามีการดำเนินการจับกุมน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับการดำเนินการจับกุม ผู้เสพ และ ผู้ค้ารายย่อย สิ่งนี้ส่งผลต่อทิศทางอาญาของประเทศ จึงต้องมีการปรับวิธีคิดเพื่อให้เกิดการแก้ไขเกี่ยวกับกฎหมายยาเสพติด สำหรับ พ.ร.บ.ยาเสพติดฉบับใหม่ จะเป็นการปรับกระบวนทัศน์การคิดเกี่ยวกับนโยบายทางอาญา เพราะเดิมจะเน้นการลงโทษ บังคับใช้กฎหมายทั้งผู้เสพ ผู้ค้ารายย่อย แต่ในกฎหมายใหม่จะเน้นดำเนินคดีกับ ผู้ค้ารายใหญ่ เพื่อมุ่งหมายให้เกิดการทลายเครือข่ายการค้ายาเสพติด ส่วน ผู้เสพ ยังมองว่าเป็น ผู้ป่วย ที่ต้องทำการบำบัดรักษา แม้จะไม่หายขาดแต่ก็ต้องให้ดีขึ้น ซึ่งในกลุ่มผู้เสพจะมีระบบสาธารณสุขเข้ามาช่วยเหลือ มากกว่าเน้นการลงโทษตามแบบเก่า เพราะกฎหมายเดิมเมื่อมียาเสพติดอยู่ในครอบครองเกินจำนวน จะตีความว่ามีความผิดเป็นผู้จำหน่าย แต่ในกฎหมายใหม่จะมุ่งเน้นดูพฤติการณ์เป็นหลัก โดยไม่ได้ตัดสินแค่จำนวนยาเสพติดที่ครอบครองเท่านั้น

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล

หน่วยงานปฏิบัติต้องปรับแนวคิดใหม่

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าวด้วยว่า พ.ร.บ.ยาเสพติดฉบับใหม่ การบังคับใช้กฎหมายกับการควบคุมในระบบสาธารณสุขจะต้องไปด้วยกัน แต่ต้องยอมรับว่า ระบบการทำงานของตำรวจไทย ยังคง มุ่งเน้นการบังคับใช้กฎหมายเป็นหลัก ซึ่งในระดับสากลเขาจะมอง 2 ประเด็นนี้ควบคู่กันไปด้วย ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด เช่น บางประเทศออกกฎให้ยาเสพติดบางชนิดถูกกฎหมาย อย่าง เนเธอร์แลนด์ สามารถเสพกัญชาได้ในร้านกาแฟตามจำนวนปริมาณที่รัฐกำหนด ดังนั้น เมื่อมีการปรับนโยบายทางอาญา หน่วยงานตำรวจจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดของเจ้าพนักงานภายในองค์กร และรูปแบบในการทำงานเกี่ยวกับ ยาเสพติด โดยจะต้องมีการอบรมให้ความรู้ทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนและป้องกันอาชญากรรม พนักงานสอบสวนที่เกี่ยวกับกฎหมายใหม่ ทั้งที่การออกกฎหมายนี้ตำรวจมีหน้าที่โดยตรงในการบังคับใช้กฎหมายกับประชาชน

เนื่องจากกฎหมายใหม่ มุ่งเน้นให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลบำบัดผู้เสพยาเสพติด และเปิดรับให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรับบุคคลเหล่านี้เข้าทำงาน และลดทอนความเป็นอาชญากรในการตีตราของกฎหมาย โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ถ้าหากรูปแบบการทำงานของฝ่ายสืบสวนทำตรงกันข้ามกับกฎหมายใหม่ ทั้งในส่วนของนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และแนวคิดของผู้บริหารระดับกลางไปจนถึงตำรวจผู้ปฏิบัติ อาจจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ขององค์กร และกฎหมายใหม่ที่ออกมาก็อาจไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา เพราะตราบใดที่ประชาชนไม่เชื่อมั่นต่อการทำงานของตำรวจ ก็เป็นเรื่องยากที่เจ้าหน้าที่จะทำงานกับชุมชนและหน่วยงานอื่น ๆ ได้ก็เป็นเรื่องยากที่กฎหมายใหม่นี้จะประสบความสำเร็จได้ จึงถือเป็นเรื่องท้าทายของสังคมและวงการตำรวจด้วย

“กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ มุ่งเน้นให้ตำรวจ สาธารณสุข หน่วยงานความมั่นคง และกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ร่วมมือกัน เพราะฉะนั้นในโครงสร้างองค์กรตำรวจปัจจุบันยังเป็นแบบทหารคือ การสั่งการจากผู้บังคับบัญชา แต่กฎหมายนี้มุ่งเน้นให้ตำรวจทำงานแบบบูรณาการเป็นเส้นขนาน ไม่ใช่ทำงานแบบสั่งการจากบนลงมาล่าง ดังนั้นถ้าองค์กรตำรวจไม่มีการปรับเปลี่ยน กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ”

ด้วยความที่องค์กรตำรวจยังมีโครงสร้างแบบเดิมที่เน้นการรวมศูนย์อำนาจ โดยการสั่งการจากผู้บังคับบัญชา ขาดการมีส่วนร่วมกับประชาชน รวมถึงการโยกย้าย โดยตำรวจบางนายไม่เคยทำงานเกี่ยวกับปราบปรามยาเสพติด แต่ก็ต้องมาทำ หรือตำรวจที่ทำงานด้านนี้เก่ง ๆ ถูกโยกย้ายไปอยู่ในส่วนอื่น ๆ รวมถึงการทำงานของตำรวจไม่ได้อิงกับชุมชนในพื้นที่ จึงส่งผลต่อการแก้ปัญหายาเสพติดในระดับชาติ 

วางกรอบความเป็นมืออาชีพให้ตำรวจ

ประธานกรรมการสถาบันอาชญาวิทยาฯ ม.รังสิต กล่าวอีกว่า ด้วยความที่กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ มีการแบ่งผู้ต้องหาเป็น 1.ผู้ค้ารายใหญ่ 2.ผู้ค้ารายย่อย 3.ผู้เสพ ซึ่งจะมีโทษแตกต่างกัน ดังนั้น พนักงานสืบสวนจึงเป็นกลไกสำคัญ เพราะถ้าหากมีการทำสำนวนคดีให้อ่อนจนผู้ค้ารายใหญ่รับโทษเป็นเพียงผู้ค้ารายย่อยหรือผู้เสพ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในภาพรวมได้ ประกอบกับความไม่ชำนาญของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคดี ซึ่งเป็นผลมาจากการโยกย้ายไปในสายงานบางครั้งก็ถูกโยกย้ายไปสายงานที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ หรือบางรายถูกย้ายไปทำงานปราบปรามยาเสพติด โดยไม่เคยผ่านงานนี้มาก่อน จึงต้องไปทำความเข้าใจกฎหมายใหม่ และต้องเขียนบรรยายฟ้อง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องอาศัยทักษะ ดังนั้นการขาดความเป็นมืออาชีพในการบรรยายฟ้องและรวบรวมหลักฐาน อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ ตอนนี้เราสามารถติดตามประเมินผลได้ หลังจากที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ยาเสพติดฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา ว่าคดีที่มีการยึดอายัดทรัพย์สิน หรือการจับกุมเครือข่ายยาเสพติดจริง ๆ มีกี่คดี

ขณะเดียวกันบทบาทของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่เกี่ยวกับกฎหมายใหม่นั้น จะต้องมีส่วนร่วมในด้านนโยบายเกี่ยวกับการเผยแพร่ความรู้ รวมถึงการบูรณาการในการประสานงานกับหน่วยงานเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ตลอดจนจะต้องประเมินการทำงานหลังประกาศกฎหมายออกมาใช้ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปรับปรุงจุดที่เป็นช่องโหว่

สิ่งสำคัญเร่งด่วน ตอนนี้คือ ผู้บริหารระดับสูง” ที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งเดินหน้าให้ความรู้กับผู้ปฏิบัติงาน เพราะข้อสันนิษฐานมีการเปลี่ยนแปลงไปจากกฎหมายเดิม และจะต้องติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่เพื่อไม่ให้ใช้ช่องว่างทางกฎหมายในการเรียกรับผลประโยชน์.