เริ่มต้นศักราชใหม่ ปีเสือ พ.ศ. 2565 ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย หรือหลายประเทศทั่วโลก ยังคงสลัดหนีไม่พ้น เจ้าไวรัสมรณะ โควิด-19 เพราะในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมายังคงเล่นงานมวลมนุษยชาติ จนทำให้บรรยากาศเทศกาลปีใหม่ หลายแห่งไม่ได้คึกคักเหมือนเดิมแล้ว 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและก็คงจะยังไม่จบลงง่าย ๆ แม้ทั่วโลกพยายามจะเร่งวิจัยผลิตวัคซีนขึ้นมาช่วยสกัด แต่เจ้าไวรัสมรณะ ยังดิ้นกลายพันธุ์แตกแขนงไปสารพัด จาก สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ B117) ตามมาด้วย เบตา (แอฟริกาใต้ B.1.351) และ เดลตา (อินเดีย B.1.617.2) ล่าสุดเจ้าเชื้อกลายพันธุ์ “โอมิครอน” พบครั้งแรกในพื้นที่ทวีปแอฟริกา ตอนนี้กำลังค่อย ๆ ขยายวงไปในยุโรป ลามเข้ามาในเอเชีย รวมถึงประเทศไทยด้วย

ปี 65 ยังต้องรับมือการแพร่ระบาด

ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ

พอเริ่มต้นปี 2565 ยังถือว่ามีความเสี่ยงในโควิด แม้ตอนนี้ในประเทศไทยจะฉีดวัคซีน ทะลุ 100 ล้านโด๊สไปแล้ว และกำลังเดินหน้าฉีดบูสเตอร์เข็ม 3 เพื่อกระตุ้นภูมิสู้กับเจ้าเชื้อกลายพันธุ์ แต่มาตรการป้องกันส่วนบุคคลยังเป็นเรื่องจำเป็นที่มองข้ามไม่ได้เช่นเดิม  ทีมข่าวเดลินิวส์ จึงขอติดตามข้อมูลมาให้ผู้อ่านได้รับรู้เตรียมพร้อมปรับตัวกันในช่วงปีใหม่ ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ปี 2565 การระบาดของโควิด-19 ยังคงมีอยู่ จะมีผู้ป่วยที่ติดเชื้อในปริมาณขึ้นลงอยู่ตลอดปี เพราะต่อให้ สายพันธุ์ โอมิครอน ไม่เข้ามาระบาดในไทย แต่สายพันธุ์เดลตา ก็พร้อมกลับมาระบาดอีกครั้ง หากเราไม่มีมาตรการป้องกันที่ดี แต่ปริมาณผู้ติดเชื้ออาจไม่มากเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากประชากรของเราส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนในปริมาณมากแล้ว 

มีผู้ที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว แต่ภูมิคุ้มกันเริ่มตก ก็อาจจะทำให้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ ดังนั้นควรจะไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้เร็วมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่คนเข้าไปใช้ชีวิตแออัดกันตรงนั้นมาก ๆ อาจจะต้องเข้าไปดูแลเพื่อฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้รวดเร็วมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ หากสายพันธุ์โอมิครอน แพร่ระบาดเข้ามาในไทย จะทำให้เกิดการติดเชื้อมากขึ้น ส่งผลต่อผู้ป่วยที่ต้องนอนในโรงพยาบาลมากขึ้นตามไปด้วย การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น แนวทางของรัฐบาลควรรณรงค์และสร้างระบบเพื่อรองรับการบริการประชาชนในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ทั่วถึง โดยเฉพาะผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค หรือแอสตราเซเนกา 2 เข็มไปแล้ว ควรจะต้องเร่งกลับมาฉีดเข็มกระตุ้น เพราะสายพันธุ์โอมิครอน มีภาวะดื้อวัคซีนค่อนข้างเยอะ ดังนั้นรัฐต้องกลับมาคิดว่า หน่วยฉีดวัคซีนที่ตอนนี้ปิดไปจะต้องกลับมาเปิดเพื่อรองรับประชาชนที่จะเข้าถึง    

เร่งปรับแผนชนิดวัคซีนฉีดกระตุ้น

ผศ.นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า สำหรับสายพันธุ์โอมิครอน ตอนนี้เริ่มมีข้อมูลว่ามีความดื้อวัคซีนมากขึ้น และสามารถติดได้ในคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว หรือคนที่เคยติดโควิดมาแล้วก็สามารถติดสายพันธุ์นี้ได้ง่ายกว่าเดิม เพราะในแอฟริกาใต้ มีผลวิจัยพบว่า ในคนที่เคยติดโควิดมาแล้ว สามารถติดสายพันธุ์โอมิครอนได้ง่ายขึ้นกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมสายพันธุ์นี้เริ่มมีการแพร่ระบาดมากขึ้น แต่ถึงอย่างไร การที่ฉีดวัคซีนมาแล้ว ยังพอช่วยไม่ให้ติดเชื้อโอมิครอน แล้วมีอาการที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดย วัคซีนชนิด mRNA จะสามารถป้องกันอันตรายจากสายพันธุ์นี้ได้ดีกว่าชนิดอื่น ดังนั้นภาครัฐควรจะนำเข้าวัคซีน mRNA มาฉีดกระตุ้นให้กับประชาชนมากขึ้น

จากข้อมูลพบว่า วัคซีนชนิด mRNA จะช่วยให้มีภูมิคุ้มกันเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าชนิดอื่น และจะช่วยจัดการกับสายพันธุ์โอมิครอนได้ดีกว่าชนิดอื่น ดังนั้นหากประเทศไทยเปลี่ยนแผนการนำเข้าวัคซีนเพื่อนำมาฉีดกระตุ้น ควรจะมีการกำหนดระยะเวลาการฉีดเข็มกระตุ้นให้เร็วขึ้น เช่น อังกฤษ แม้จะฉีดแอสตราเซเนกา 2 เข็ม ก็ต้องขยับเวลาให้ฉีดเร็วขึ้น จากเดิมกำหนดไว้ 6 เดือน ตอนนี้ขยับมา 3 เดือน และต้องมาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่เป็นชนิด mRNA ที่สำคัญในอนาคตโควิดยังมีโอกาสที่จะเกิดการกลายพันธุ์เป็นชนิดอื่น ๆ ด้วย ดังนั้นมาตรการป้องกันส่วนบุคคลยังเป็นเรื่องที่จำเป็น

ถอดจากบทเรียนวิกฤตินำมาปรับใช้ได้

สำหรับการเตรียมความพร้อมในปี 2565 ของทีมบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศ ยังต้องเตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะห้องผู้ป่วยวิกฤติ ที่จะต้องเตรียมพร้อมรองรับไว้ แต่อาจไม่ต้องมีเยอะเท่าการระบาดในรอบที่ผ่านมา ขณะเดียวกันทีมแพทย์จะต้องค่อย ๆ ฟื้นการบริการในโรคอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โควิดให้มากขึ้น เพราะในปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลค่อนข้างติดขัดในการให้บริการโรคอื่น ๆ เพราะเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด หลายโรงพยาบาลต้องปิด จนทำให้บริการประชาชนในโรคอื่น ๆ ไม่ได้ เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ต้องรอการให้คีโม หรือผู้ป่วยหลายรายต้องรอการผ่าตัด โดยในปี 2565 จะเป็นปีที่ทีมแพทย์จะต้องปรับเปลี่ยนมาให้บริการผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ให้เป็นปกติมากขึ้น

โรงพยาบาลจะต้องวาง แผนในการผ่อนคลาย และคอยสังเกตหากมีการติดเชื้อโควิดในพื้นที่ หรือสถานการณ์ที่โรงพยาบาลอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงกลับมารองรับผู้ป่วยโควิดในพื้นที่ให้มากขึ้นตามเดิม เพราะผลกระทบจากโควิด จะมีปัญหาเชื่อมโยงในส่วนอื่น ๆ ไปแบบลูกโซ่  ที่ผ่านมาเราได้บทเรียนจากหลาย ๆ ประเทศในยุโรปว่าที่เกิดการกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งเนื่อง จากผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เร็วเกินไป ประกอบกับในช่วงนั้นประชากรที่ฉีดวัคซีนไปแล้วอาจมีภูมิคุ้มกันตกพอดี เลยทำให้เกิดการแพร่ระบาดในรอบใหม่อีกครั้งไทยยังโชคดีที่เรามี มาตรการในการป้องกันส่วนบุคคล“ ดีกว่าหลายประเทศในยุโรป อยากจะฝากเตือนทุกคนที่จะเฉลิมฉลองช่วงปีใหม่ ควรจะเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เพราะช่วงเวลานี้คนจะกลับมาใกล้ชิดกันอีกครั้ง

เหนือสิ่งอื่นใดทุกคนต้องปรับตัวกับชีวิตให้ได้ในยุคนิวนอร์มัล  โดยเฉพาะด้านสุขภาพ ไล่ตั้งแต่เรื่องอาหารที่มีประโยชน์, หมั่นล้างมือทำความสะอาดถูกวิธี, มีเวลาออกกำลังกาย, รู้จักรักษาระยะห่าง และออกจากบ้านยังต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย เพราะเรายังต้องอาจผจญรับมือสู้กับ “เจ้าโควิดกลายพันธุ์” รวมถึง “โรคอุบัติใหม่” ในอนาคต.

ความคืบหน้า ‘2 วัคซีนไทย’

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม

นอกจากวัคซีนที่ไทยนำเข้าจากต่างประเทศแล้ว แต่ไทยก็ยังเร่งวิจัยและพัฒนาวัคซีนที่กำลังเดินหน้าผลิตขึ้นเองด้วยเช่นกัน ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งพัฒนา วัคซีน ChulaCov19 เปิดเผยว่า สิ่งที่เป็นความท้าทายในการวิจัยในเฟสถัดไป คือการหาอาสาสมัครอีก 3,700 คนที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน เป็นเรื่องที่น่ากังวลเนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่จะฉีดวัคซีนกันแล้ว ทำให้การหาอาสาสมัครที่แข็งแรง และมีอายุที่หลากหลายค่อนข้างลำบาก แต่ทางทีมเตรียมที่จะปรึกษากับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่จะขอทดลองในอาสาสมัคร 600 คน ควบคู่กับการเทียบภูมิคุ้มกันกับคนที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ แต่ถ้าหากอาสาสมัครไม่ครบตามเป้าอาจทำให้การทดลองล่าช้าไปจากเดิม ที่คาดว่าจะเสร็จเร็วสุดเดือน มิ.ย.65      

สำหรับ วัคซีน ChulaCov19  เริ่มดำเนินการทดสอบในมนุษย์ ระยะที่ 1/2 ตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย.64 ที่ผ่านมา โดยมีการทดสอบในอาสาสมัคร 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอายุ 18-55 ปี จำนวน 36 ราย และกลุ่มอายุ 56-75 ปี จำนวน 36 ราย ฉีดวัคซีน 2 เข็มห่างกัน 3 สัปดาห์ ผลเบื้องต้นในกลุ่มอายุ 18-55 ปี พบว่าวัคซีนกระตุ้นภูมิกันได้ดี ไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง  อาการจะดีขึ้นภายใน 1-2 วัน นอกจากนี้ยังได้ทดสอบในกลุ่มอายุ 55-75 ปี รวมทั้งอยู่ในระหว่างการหารือกับ อย. เพื่อเตรียมทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 พร้อมเตรียมความพร้อมขยายกำลังการผลิตวัคซีน โดยคาดว่าจะสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนให้กับบริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนระดับอุตสาหกรรมในประเทศได้ในไตรมาสแรกของปี 2565 และยังเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 ที่ตอบสนองต่อเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ได้

ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ

ด้าน ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และ CEO & Co Founder บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ผู้ร่วมคิดค้น วัคซีนป้องกันโควิด-19 จากใบพืชตระกูลยาสูบ (วัคซีนจุฬาฯ-ใบยา) ใช้ระบบการผลิตrecombinant protein โดยการตัดต่อพันธุกรรมของแบคทีเรียที่ก่อโรคในพืชในใบยาสูบ เปิดเผยว่า ตอนนี้ได้เริ่มทดลองในมนุษย์เฟสแรก เริ่มฉีดในกลุ่มอาสาสมัครที่มีอายุน้อยแล้ว ซึ่งยังไม่พบผลข้างเคียงหรือความผิดปกติ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ เรายังขาดแคลนอาสาสมัครในกลุ่มผู้สูงอายุ ที่จะทดลองในเฟสแรกทั้งหมด 48 คน แต่ตอนนี้อาสาสมัครที่ผ่านการคัดเลือกแล้วเพียง 5 คน เพราะประชากรส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนจำนวนมากแล้ว อีกปัญหาหนึ่งของการเป็นอาสาสมัครจะต้องเดินทางมาพบไม่ต่ำกว่า 7 ครั้งเพื่อประเมินสุขภาพ ทำให้ต้องใช้เวลาและเสียค่าใช้จ่ายที่สูงจึงอยากเชิญชวนผู้สูงอายุมาสมัครเป็นอาสาสมัคร

ปัจจุบันได้ดำเนินการสร้างโรงงานผลิตวัคซีน ระดับอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการผลิตวัคซีนจากระบบดังกล่าวที่ อาคารจุฬาพัฒน์ 14 คาดว่าจะมีกำลังการผลิตจำนวน 1-5 ล้านโด๊สต่อเดือน ส่วนวัคซีนใบยา อยู่ระหว่างการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ฉีดให้กับอาสาสมัครวันที่ 27 ก.ย. 64 โดยมี ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม  คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมเป็นนักวิจัยทางคลินิกด้วย นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้พัฒนาวัคซีนรุ่นที่สอง โดยปรับปรุงสูตรให้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น และมีการพัฒนาจากเชื้อไวรัสกลายพันธุ์มากกว่า 10 รูปแบบ เพื่อพัฒนาเป็นวัคซีนผสม (Cocktail vaccine) ซึ่งวัคซีนรุ่นที่สองนี้ ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการทดสอบในสัตว์ทดลอง