ถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี 2564 ที่ผ่านไปแล้วนั้น ถ้าเปรียบเทียบกับการเกิดเหตุ การก่อการร้าย หรือ ก่อความไม่สงบ จะพบว่า ปี 2564 เป็นปีที่ “โจรใต้” กลุ่มบีอาร์เอ็น ก่อเหตุมากกว่า ปี 2563  แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อดูสถิติของการปิดล้อมตรวจค้น จับผู้ต้องหา และ วิสามัญกลุ่มคนร้าย ที่มีหมายจับ แล้วขัดขืนต่อสู้ ไม่ยอมให้จับกุมตัวง่าย จนทำให้เกิดการปะทะและวิสามัญคนร้ายไม่ต่ำกว่า 20 ศพ

พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ – พล.ต.ท.นันทเดช ย้อยนวล

ปมถูกเจ้าหน้าที่รุกกดดันหนัก

เกือบตลอดปี 2564 โจรใต้ต้องสูญเสียแนวร่วมฯไปอย่างต่อเนื่อง จึงพยายามลอบซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร ตำรวจ และชาวบ้านเลือกเป้าหมายอ่อนแอไม่ทันระวังตัว ล่าสุดวางแผนก่อวินาศกรรม เสาไฟฟ้า ในคืนวันที่ 31 ธ.ค. 64 ประชาชนกำลังเฉลิมฉลองปีใหม่ 2565  ได้ก่อกวนความสงบสุขชาวบ้าน และสร้างความปั่นป่วนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยการ วางระเบิดเสาไฟฟ้า  6 จุด ในพื้นที่  อ.บันนังสตา อ.รามัน และ อ.เมือง จ.ยะลา ส่งผลทำให้เสาไฟฟ้าโค่นล้มจำนวนหลายต้น ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนช่วงคาบเกี่ยวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

ก่อนหน้าที่จะก่อเหตุระเบิดเสาไฟฟ้า ยังใช้ระเบิดแสวงเครื่อง ขว้างระเบิดไปป์บอมบ์ ก่อกวนในเวลากลางวันต่อเป้าหมายที่เป็นฐานปฏิบัติการย่อย ทั้งของ ทหาร และ ตำรวจ อย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่แนวร่วมฯกลุ่มนี้เป็นเด็กหนุ่ม วัยรุ่นเยาวชนที่ฮึกเหิมใช้ จยย.เป็นพาหนะก่อเหตุ คนซ้อนท้ายแต่งกายเป็นผู้หญิง มือขว้างระเบิด และหลบหนีไปอย่างรวดเร็วกระทั่งล่าสุดช่วงเที่ยงวันที่ 3 ม.ค. 65 บุกลอบกราดยิง ฐานปฏิบัติการ กองร้อย ทหารพรานที่ 4513 บ้านสาเมาะ ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ขณะทหารพรานกำลังตรวจรถที่ผ่านไปมาหน้าฐาน เหตุการณ์ครั้งนี้กล้องวงจรปิดสามารถบันทึกช่วงเวลาเกิดเหตุได้นานเกือบ 10 นาที ก่อนกลุ่มคนร้ายซึ่งระดมซุ่มยิงออกมาจากสวนยาพาราจะล่าถอย ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 1 นาย และบาดเจ็บ     3 นาย

มีการตั้งข้อสังเกตว่า การก่อเหตุในช่วงคาบเกี่ยวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2565 อย่างต่อเนื่อง น่าจะมาจากเหตุถูกกำลังเจ้าหน้าที่กดดันมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ เปิดยุทธการฮูแตยือลอ 11 วัน ปิดล้อมไล่ล่ากองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ป่าพรุ บ้านฮูแตยือลอ หมู่ 6 ต.บาเร๊ะใต้ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. 64 วิสามัญคนร้ายไป 6 ศพ เมื่อโดนรุกหนักตั้งแต่นั้นมาจึงพยายามหาช่องโหว่เพื่อซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐมาตลอด รวมถึงอาศัยช่วงเวลากลางคืนก่อวินาศกรรรม เสาไฟฟ้า  เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์

สอดคล้องกับงานการข่าว ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้น แกนนำบีอาร์เอ็น  ที่ปักหลักสั่งการอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ย้ำให้แนวร่วมติดอาวุธที่ก่อเหตุตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐ ก็ต้องระมัดระวังเพื่อป้องกันความสูญเสีย เนื่องจากระยะหลังมักจะถูกเจ้าหน้าที่ไล่ล่ารุกหนักตามแหล่งกบดานและที่พักจนต้องเสียชีวิตอยู่ตลอด ดังนั้นตามแผนของบีอาร์เอ็นส่วนใหญ่จะก่อเหตุทุกครั้งก็ต่อเมื่อ “เป้าหมายชัด โอกาสมี ทางหนีพร้อม” เพื่อลดความสูญเสีย ก่อนเข้าโจมตีเป้าหมาย จะส่งแนวร่วมไปตรวจสอบข้อมูล เพื่อนำมาจำลองเหตุการณ์ จนมั่นใจว่าไม่ผิดพลาดแล้วจึงจะลงมือก่อเหตุซุ่มโจมตีแบบฉาบฉวยทันที

ที่สำคัญทุกครั้ง จะจัดกำลังอย่างน้อย 3 ชุด คือ ชุดแรก จัดหานำส่งอาวุธ ปืน หรือ ระเบิด ชุดสอง คือชุดที่รับอาวุธเพื่อโจมตีเป้าหมาย หลังโจมตีเป้าหมายและถอนตัวรีบไปยังจุดนัดพบเพื่อส่งอาวุธให้กับ ชุดสาม ที่มีหน้าที่เก็บอาวุธไปซุกซ่อนด้วยวิธีการอย่างนี้ จึงทำให้การติดตาม ไล่ล่า การตั้งจุดสกัด หลังเกิดเหตุของเจ้าหน้าที่จึงติดตามไม่ค่อยเจอ

กลไกพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ยังจำเป็น

ก่อนหน้านี้ ช่วงกลางเดือน ธ.ค. 64 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ครั้งที่ 3/64 เพื่อติดตามสถานการณ์สำคัญและการขับเคลื่อนแก้ปัญหาในพื้นที่ โดยที่ประชุมรับทราบแนวโน้มสถานการณ์ในพื้นที่ สถานการณ์โควิด-19 และ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ภายใต้กลไกใน 3 ระดับ ทั้งระดับนโยบาย การแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และการขับเคลื่อนระดับพื้นที่ รวมทั้งการกำหนดคณะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เพื่อประสานงานระหว่างคณะรัฐมนตรี ราชการส่วนกลางและหน่วยงานในพื้นที่ รวมทั้งรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในจังหวัดชายแดนใต้ ผ่านกลไกสภาสันติสุขตำบล

โดยที่ประชุมยังให้ความเห็นชอบ ร่างแผนปฏิบัติการด้านการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2566-2570 โดยมุ่งให้ภาคใต้มีความสงบสุข เหตุการณ์ความรุนแรงยุติได้ในปี 2570 มุ่งขจัดเงื่อนไขเก่าที่มีอยู่ให้หมดสิ้นไป ตลอดจนไม่เกิดเงื่อนไขใหม่ และเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนศูนย์พัฒนาทักษะภาษา เพื่อสื่อสารในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่จะจัดตั้งขึ้นนำร่อง 184 ศูนย์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอ จ.สงขลา มีกระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบ พร้อมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงานภายใต้ คปต. ในแต่ละด้าน ทั้งความมั่นคง, การพัฒนา ,บริหารจัดการและประเมินผล

สำหรับการพัฒนาพื้นที่โดย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ กลไกของการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างตัวแทนของขบวนการบีอาร์เอ็น กับตัวแทนของรัฐบาล ที่มี พล.อ.วัลลพ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นหัวหน้าคณะฯ และมีรัฐบาลประเทศมาเลเซีย เป็นผู้อำนวยความสะดวกซึ่งสอดคล้องกับ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาฯสมช. ก็มีการวิเคราะห์สถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า สถานการณ์ดีขึ้นและจะใช้กลไกของการพูดคุยเพื่อสันติสุขทั้งภายในพื้นที่ และกับ บีอาร์เอ็น เพื่อเป็นทางออกในการสร้างความสันติในพื้นที่กลับคืนมา

ยันเจ้าหน้าที่ยึดแนวทางสันติวิธี

ขณะเดียวกัน พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 กล่าวถึง การก่อเหตุของแนวร่วมฯบีอาร์เอ็นที่ผ่านมาว่า ต้องยอมรับความจริงว่า “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดนยังมีความเคลื่อนไหว มีความพยายามในการก่อเหตุร้ายเพื่อหล่อเลี้ยงความรุนแรง และเพื่อแสดงตัวตน ซึ่งความเคลื่อนไหวทุกด้านของ บีอาร์เอ็น หน่วยงานความมั่นคงติดตามโดยตลอด และมีการปฏิบัติการ ทั้งด้านมวลชน และด้านยุทธการ ควบคู่กันไป โดยการ ยึดหลักสันติวิธี กรณีที่เกิดการวิสามัญฯ ขณะเจ้าหน้าที่ปิดล้อมตรวจค้น เป็นเพราะไม่ยอมที่จะออกมามอบตัว ทั้งที่เจ้าหน้าที่ให้โอกาส แต่พวกเขาเลือกที่จะต่อสู้เพื่อสร้างความสูญเสียให้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งในส่วนการรักษาความสงบในพื้นที่ ได้สั่งการให้ ผบ.กองกำลัง ปฏิบัติการดูแลประชาชนและจำกัดเสรีภาพของกองกำลังติดอาวุธ เพื่อที่จะลดการก่อเหตุร้ายให้เหลือน้อยที่สุด

ด้าน พล.ต.ท.นันทเดช ย้อยนวล ผบช.ภ.9 เปิดเผยว่า ทุกเหตุการณ์ที่มีการก่อเหตุร้าย ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอ จ.สงขลา ช่วงหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเก็บรวบรวมพยานหลักฐานและความเคลื่อนไหวบางส่วนได้จากกล้องวงจรปิด จนทำให้สามารถติดตามจับกุม แนวร่วมฯที่อยู่ในขบวนการของการก่อการร้ายได้มากถึง 20 กว่าราย วิธีการสืบสวนสอบสวนโดยมีหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ภาพจากกล้องวงจรปิด คือ หลักฐานสำคัญที่มัดตัวคนร้ายในการเอาผิดทางกฎหมาย และเป็นวิธีการหนึ่งของการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่

หนทางการแก้ปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ จะมีทางออกเช่นไรนั้น ยังคงเป็นเรื่องในอนาคตที่หลาย ๆ ฝ่าย รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่เองยังคงเฝ้าจับตามาตลอด เพราะทุกคนต่างก็อยากเห็นปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น ได้ยุติอย่างถาวรเช่นเดียวกับที่รัฐบาลตั้งเป้าเอาไว้.