มาลี เป็นประเทศซึ่งไม่มีทางออกโดยตรงสู่ทะเล ตั้งอยู่ทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา ได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส เมื่อปี 2503 และสถาปนาเป็นสาธารณรัฐในปีเดียวกัน

Al Jazeera English

ทั้งนี้ ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี มาลีเผชิญกับการรัฐประหารอย่างน้อย 2 ครั้ง เมื่อเดือนส.ค. 2563 และพ.ค.2564 สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกำลังทำให้ประเทศอดีตเจ้าอาณานิคม คือ ฝรั่งเศส ต้องยิ่งเผชิญกับสภาวะที่เรียกว่า “ติดหล่ม” แบบถลำลึก หลังส่งทหารเข้ามาประจำการในมาลี ตั้งแต่ปี 2556 เพื่อร่วมปราบปรามกองกำลังติดอาวุธ ปกป้องสถานที่สำคัญหลายแห่ง และรักษา “แหล่งทรัพยากรสำคัญ” ซึ่งรวมถึงทองคำ แร่เหล็ก และยูเรเนียม

ชาวมาลีชุมนุมต่อต้านฝรั่งเศส ในกรุงบามาโก

ความสัมพันธ์ระหว่างมาลีกับฝรั่งเศสทวีความตึงเครียดขึ้นอีกระดับ เมื่อช่วงต้นเดือนนี้ พ.อ.อัสซิมี โกอิตา ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารทั้งสองครั้ง ประกาศว่า นายโฌเอล เมเยอร์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงบามาโก มีสถานะ “บุคคลไม่พึงปรารถนา” และต้องเดินทางออกไปมาลี สืบเนื่องจาก “การแสดงทรรศนะที่ไม่เหมาะสม” ของนายฌอง-อีฟว์ เลอ ดริยง รมว.การต่างประเทศฝรั่งเศส กล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า จนถึงตอนนี้ รัฐบาลทหารของมาลียังไม่มีความคืบหน้า เรื่องการจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ และการประสานงานกับรัฐบาลทหารชุดนี้ “ไม่สามารถควบคุมได้”

FRANCE 24 English

อนึ่ง รัฐบาลทหารมาลีกลับลำจาก “คำมั่นสัญญา” เรื่องการจัดการเลือกตั้งเพื่อการถ่ายโอนอำนาจตามระบอบประชาธิปไตย โดยกล่าวว่า จะขอบริหารประเทศจนถึงปี 2568 ขณะที่นางฟลอเรนซ์ ปาร์ลี รมว.กระทรวงกลาโหมของฝรั่งเศส กล่าวว่า ทหารฝรั่งเศสจะไม่ประจำการอยู่ในมาลีอีกต่อไป “หากงบประมาณบานปลาย” และเริ่มถอนทหารบางส่วนออก หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่สำคัญ คือการปิดฐานทัพที่เมืองโบราณทิมบักตู

พ.อ.อัสซิมี โกอิตา หัวหน้าคณะรัฐประหาร และผู้นำรัฐบาลทหารคนปัจจุบันของมาลี

ในเวลาเดียวกัน การที่สหภาพแอฟริกา ( เอยู ) ระงับสถานภาพสมาชิกของมาลี และประชาคมเศรษฐกิจแอฟริกา ( อีโควาส ) ยกระดับมาตรการคว่ำบาตรต่อมาลี กลับกลายเป็นว่า ยิ่งทำให้เกิดกระแสต่อต้านฝรั่งเศสในมาลีมากยิ่งขึ้นไปอีก จากการที่รัฐบาลปารีสคือผู้สนับสนุนขององค์กรทั้งสองแห่ง และร่วมผลักดันการจัดทำมาตรการคว่ำบาตรมาลีของอีโควาส ที่มีทั้งการปิดล้อมอาวุธ และตามด้วยการที่แอร์ฟรานซ์ระงับเส้นทางบินพาณิชย์ระหว่างมาลี

อย่างไรก็ตาม มาลีและฝรั่งเศสมีความมึนตึงต่อกันมานานก่อนหน้านั้นระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส วิจารณ์ว่าอีโควาส “ตัดสินใจผิดพลาด” ที่ปล่อยให้พ.อ.โกอิตาก้าวขึ้นสู่การเป็นประธานาธิบดี หลังการรัฐประหารครั้งล่าสุด เมื่อปีที่แล้ว และยังวิจารณ์ด้วยว่า ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในมาลีภายใต้เงาของกองทัพยุคนี้ “เป็นสัญญาณเลวร้าย” ให้กับประเทศเพื่อนบ้านอีกหลายแห่ง

ขณะเดียวกัน ดูเหมือนรัฐบาลปารียังคงพยายามเก็บงำท่าทีของความไม่พอใจ และความเคลือบแคลงสงสัย ต่อการที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนในรัฐบาลทหารมาลีชุดนี้ มีความสัมพันธ์ทางทหารใกล้ชิดกับรัสเซีย มากกว่าฝรั่งเศส ประเทศซึ่งมีประวัติการส่งทหารเข้ามาในมาลี อย่างต่อเนื่องแล้วหลายพันนาย

ฝรั่งเศสกำลังจะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ตามกำหนด ในเดือนเม.ย.นี้ แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นโยบายต่างประเทศเป็นปัจจัยซึ่งมีผลน้อยมากต่อการตัดสินใจของชาวฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ภายในมาลี และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลทหารมาลีกับรัฐบาลปารีส เกิดขึ้นในช่วงเวลา “ประจวบเหมาะ” เนื่องจากมาครงซึ่งยังคงรักษาท่าที ว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมัยที่สองหรือไม่ กำลังตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีจากฝ่ายค้านในหลายเรื่อง

นอกจากนี้ สถานการณ์ในมาลียังเป็นบททดสอบสำคัญกับนโยบาย “เข็มทิศยุทธศาสตร์” (Strategic Compass) ของสหภาพยุโรป ( อียู ) ซึ่งถือเป็น “พิมพ์เขียวในฝัน” ด้านการบริหารจัดการนโยบายต่างประเทศ ความมั่นคง และกลาโหมของยุโรป ว่าด้วยการที่สมาชิกอียูต้องร่วมกันเพิ่มความรวดเร็วและแข็งแกร่ง ในการจัดการวิกฤติการณ์ทางทหาร อย่างมีประสิทธิภาพและยืดหยุ่น พร้อมทั้งการตอบสนองต่อภัยคุกคามเฉพาะหน้า และการรับมือกับภาวะวิกฤติได้อย่างทันท่วงที”.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : REUTERS