ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาทางด้านประชากรศาสตร์ คือในปีนี้พบว่า อัตราการเกิดต่ำมากแค่หลักแสน อัตราผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมันมีผลมากต่อภาคเศรษฐกิจและสังคม ง่ายๆ คือ ภาคเศรษฐกิจนี่จะขาดแคลนแรงงาน ที่จะสร้างความเจริญเติบโตของรายได้ประชาชาติ (จีดีพี) และมีผู้สูงอายุเลยวัยทำงานมากขึ้นที่รัฐจะต้องจ่ายค่าอุดหนุนเลี้ยงดูเป็นจำนวนมากเพราะคนไทยมีภาวะ “แก่ก่อนรวย” เยอะ จากปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ตอนโควิดระบาดหนักๆ มีข้อเสนอให้เอา เงินประกันสังคมชราภาพมาจ่ายช่วยก่อน ก็เห็น รมว.เฮ้ง สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงานบอกว่า มีแนวทางที่คิด ๆ อยู่เช่นการจ่ายเป็นบำเหน็จก้อนเดียว หรือการให้ประชาชนกู้ได้บางส่วน แต่มีคนคัดค้านว่า ระวังปัญหาหนักตามมา คือ พอให้คนกู้ คนจะแห่กู้จนกระทบกับความมั่นคงของกองทุน หรือให้เป็นบำเหน็จ คนก็จะเอาเงินก้อนมาหมุน ไปลงทุนบ้าง ญาติพี่น้องจะยืมบ้าง สุดท้ายเหลว กลายเป็นว่ากลับมาขอร้องให้รัฐช่วยใหม่ ก็ต้องหาทางช่วยกันอีก คราวนี้พอเงินกองทุนมันร่อยหรอก็ต้องปรับแนวทางการจ่ายช่วยเหลือใหม่

แล้วเราจะยอมกันได้เหรอ ถ้าต้องตัดสิทธิรักษาพยาบาลบางรายการ ลดเงินช่วยกรณีว่างงาน ลดเงินช่วยกรณีชราภาพ ซึ่งก็แทบจะไม่พอใช้อยู่แล้วแต่สภาพกองทุนไม่รอดเพราะเงินไหลออกทางอื่นไป ซึ่งแนวคิดนี้ไม่ค่อยน่าสนับสนุนเท่าไรนัก สิ่งที่อยากให้รัฐบาลทบทวนคือการจูงใจในการออม ..โอเคว่า คนรวย คนชั้นกลาง มีการวางแผนทางการเงินเช่นซื้อกองทุน ซื้อประกันอะไร ไปเรื่อยๆ ได้ แต่คนจนหาเช้ากินค่ำบ้านเราเยอะ แค่หาให้พอกินก่อนเถอะอย่าเพิ่งไปคิดถึงกองทุน ดังนั้นรัฐบาลก็ต้องมีวิสัยทัศน์บางอย่างในการให้คนออมเพื่อเอาเงินมาใช้เกษียณ

สิ่งที่น่าสนใจคือนโยบายของพรรคเพื่อไทยตอนเลือกตั้งปี 62 ซึ่ง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้งพรรคไทยสร้างไทยไปแล้ว เคยเสนอว่า ให้มีการทำ “เงินออมหวย” หรือชื่ออะไรทำนองนี้ แต่วิธีคือ เมื่อคนไทยซื้อลอตเตอรี่มาก (แล้วก็ถูกหวยกินมากเช่นกัน) ก็ให้ มีการหักเงินค่าลอตเตอรี่ที่ซื้อแต่ละงวดนั่นแหละ อัตโนมัติเลย เข้าเป็นเงินออมอีกก้อน (เห็นบางคนแถวๆ นี้ซื้อหวยทีแล้วยังคิดเลยว่านโยบายนี้ท่าจะทำให้เขาสบายตอนแก่) ก็ขอฝากเป็นโจทย์ให้รัฐบาลคิดเรื่องการส่งเสริมการออมเงินอย่างไรให้มีเงินใช้อีกก้อนนอกจากเงินผู้สูงอายุ (ที่ควรต้องเพิ่ม)

กลับไปสู่สาเหตุที่ว่า “ทำไมคนเกิดใหม่น้อย” ก็ย้อนกลับไปประโยคที่กล่าวข้างต้นคือ “เพราะคนไทยส่วนมากแก่ก่อนรวย” แปลได้ว่า ความไม่พร้อมทางเศรษฐกิจอะไรต่างๆ ทำให้การมีลูกคนนึงไม่ใช่แค่จนไปเจ็ดปี แต่มันนานกว่านั้นอีก พ่อแม่ก็ต้องทำงาน ในโลกทุนนิยม คนเป็นลูกจ้างมีมากกว่าเจ้าของกิจการ พอเป็นลูกจ้างมันก็มีการเข้าออกงานตามระบบระเบียบขององค์กร เอาเวลาไหนเลี้ยงลูก ก็ต้องจ้าง

จะให้เอาปู่ย่าตายายมาสอน เคยคุยกับคนแถวๆ นี้เขาก็บอกว่า “ไม่อยากให้ปู่ย่าตายายมาดูแล โอเคว่า แม้จะเป็นสายเลือดเดียวกัน แต่วิธีสอนเป็นวิธีโบราณแบบที่คนรุ่นเขาไม่อยากให้เอามาสอนลูกเท่าไรนัก generation มันต่าง วิธีคิดมันต่าง อย่างบางทีลูกไม่อยากทำอะไรไม่ใช้วิธีหาเหตุผลของปัญหา แต่ใช้วิธีบังคับหรือหลอกเด็ก ทำให้เด็กโตมาไม่มีเหตุผลหรือไม่มีความมั่นใจในตัวเอง”

แล้วการดูแลลูกหลานปัจจุบันมันมีอะไรพิเศษเยอะแยะไปหมด ต้องสอนให้รู้จักเทคโนโลยีแต่เด็ก เพื่อเป็นแรงงานที่มีฝีมือในยุคสมัยใหม่ ต้องมีทักษะอื่นอย่างดนตรี, กีฬา กระทั่งทำอาหาร เพื่อหัดเข้าสังคมหรือต่อยอดอาชีพ ต้องฝึกภาษาแต่เล็ก อย่างน้อยเป็น เด็กสองภาษาได้ โรงเรียนต้องเลือกสิ่งแวดล้อมดี ก็เพื่อให้อยู่ในโลกยุคนี้ได้นั่นแหละ ค่าใช้จ่ายมันก็สูง เรามีลูกคนนึงเราก็ต่างอยากให้ลูกไปได้ไกลกว่าพ่อแม่ แต่พ่อแม่ไม่มีปัญญาลงทุนกับลูกพอล่ะลูกเอ๋ย…คนสมัยนี้เลยอยากอยู่เป็นโสดกันมากกว่า ทำอะไรก็คล่องตัว มีปัญหากับคนรักก็ไม่ต้องกลัวกระทบลูก

รัฐบาลมีโครงการส่งเสริมการมีลูกมาตั้งนานแล้ว คงจำได้ตั้งแต่ตอนสาธารณสุขออกนโยบาย “แม่แก้มแดง” คือ แจกโฟเลต สำหรับบำรุงร่างกายหญิงวัยเจริญพันธุ์ เงินอุดหนุนเด็กเกิดใหม่ กระทั่ง เรียนฟรี แต่มันก็ยังจูงใจไม่พอ จะไปโทษว่ารัฐบาลห่วยคนถึงไม่อยากมีลูกมันก็อย่าไปพูดอย่างนั้นเลย ต่างประเทศที่เขารัฐบาลดีกว่าไทย เจริญกว่าไทยก็อัตราการเกิดต่ำ อย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ก็เพราะคนมันไม่อยากจะมี ประเทศที่เกิดสูงๆ อย่างแอฟริกาก็เพราะไม่คุมกำเนิด ซึ่งเกิดสูงมันไม่ได้ดีต่อสังคมถ้าประชากรไม่มีคุณภาพ ไม่มีรัฐสวัสดิการดูแลดีพอ

แล้ววิธีไหนจะทำให้คนอยากมีลูก เห็น รมช.ตี๋ สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุ คิดว่าอยากจะให้ influencer (ผู้มีอิทธิพลทางความคิด) มาแสดงให้ดูว่า มีลูกแล้วมันมีความสุขแค่ไหน ครอบครัวอบอุ่น เผื่อใครจะอยากมีตาม อันนี้เราก็เห็นๆ อยู่ว่าไม่ต้องไปจ้าง influencer ที่ไหนหรอก ดาราไทยนั่นแหละมีลูกก็ชอบอวด (ซึ่งไม่ต้องบอกหรอกว่าใครบ้าง เห็นตามโซเชียลเยอะแยะ) บางคนลูกตัวเท่าเมี่ยงยังไม่ค่อยรู้ความก็อวดจนกระทั่งโฆษณาผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก สำหรับครอบครัวเข้าได้ ..นั่นคือเขา

  1. รวยอยู่ก่อนแล้ว 
  2. มีลูกแล้วต่อยอดฐานะได้ เขาก็อวดสิ

คือมันไม่ได้กระตุ้นให้คนอยากมีลูกเพิ่มขึ้น เพราะเขาไม่มีทั้งต้นทุนทั้งการต่อยอด จนกระทั่งกระทรวงสาธารณสุขก็คิดแนวทางอีกอย่างหนึ่งคือการแก้ไข กฎหมายอุ้มบุญ เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่พร้อม อยากมีลูก แต่ไม่มีสิทธิตามกฎหมาย (คือไม่ใช่คู่สมรสโดยนิตินัย) สามารถอุ้มบุญได้

การอุ้มบุญเดิมต้องใช้ญาติทางพ่อหรือแม่ และเป็นผู้หญิงที่ผ่านการตั้งครรภ์มาแล้ว ก็อาจเปลี่ยนเป็น ให้ผู้หญิงที่ผ่านการตั้งครรภ์มาแล้ว สามารถมาขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมส่งเสริมบริการสุขภาพ (สบส.) โรงพยาบาล หรือสถานที่ใดก็ตามแล้วแต่กฎหมายกำหนด ให้สามารถรับอุ้มบุญได้ มีการทำสัญญากันให้เรียบร้อยว่า เด็กต้องเป็นสิทธิของพ่อแม่อุ้มบุญ ป้องกันการแอบรับจ้างอุ้มบุญแล้วเกิดเด็กมีภาวะไม่พึงประสงค์ อย่างพิการหรือดาวน์ซินโดรมแล้วพ่อแม่ทิ้ง และจะต้องมีค่าตอบแทนให้แม่อุ้มบุญได้ แบบทำให้ถูกกฎหมายไปเลยไม่ใช่ให้จ้างท้องเป็นการค้ามนุษย์

ผู้จ้างอุ้มบุญที่มีความพร้อมในการเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ก็ใช้ไข่หรือสเปิร์มจากธนาคารเก็บเชื้อจ้างอุ้มบุญได้ เพราะก็น่าเชื่อได้ว่า มีคนที่อยากมีลูกแต่ไม่อยากมีคู่สมรสอยู่จำนวนพอสมควรในไทย และหลายคนก็มีความพร้อม เขาต้องการแค่มีทายาท ขณะเดียวกัน ทาง กลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ก็ฝากว่า อยากให้ กฎหมายสมรสเท่าเทียม (ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ… ไม่ใช่ พ.ร.บ.คู่ชีวิต) ผ่านสภา

เพราะคู่รักเพศเดียวกันก็อยากมีทายาท “ในนามพ่อแม่” ไม่ใช่ให้เด็กเป็นสิทธิของคนใดคนหนึ่ง เขาก็ขอสิทธิในการจ้างอุ้มบุญได้บ้าง แต่ที่ต้องการให้เป็นกฎหมายสมรสเท่าเทียม (แก้ ปพพ.1448) เพราะมันครอบคลุมกว่ากฎหมายคู่ชีวิตตรงที่ให้คู่สมรสใช้สวัสดิการข้าราชการของอีกฝ่ายได้ด้วย ซึ่งคู่ชีวิตไม่มีตรงนี้เนื่องจากรัฐบาลน่าจะเห็นว่าแก้ยาก (หรือเห็นว่าแก้แล้วจะยุ่งยากก็ไม่รู้ เนื่องจากมันเป็นกฎหมายการเงิน) แล้วยังไม่รู้จำคำนวณสิทธิที่ต้องใช้อย่างไรเพราะยังไม่มีการทำสำมะโนประชากรกลุ่ม LGBT ในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม เรื่องการแก้กฎหมายอุ้มบุญ มันเป็นแค่กลไกหนึ่ง ซึ่งการเพิ่มขึ้นของประชากรมันต้อง เป็นการแก้ปัญหาระดับมหภาค เรื่องการเตรียมพร้อมของรัฐบาล ในการสนับสนุนครอบครัวที่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในฐานะยากจนไปถึงปานกลาง การลดความเหลื่อมล้ำก็ทำให้คนอยากมีลูกได้เพราะเชื่อว่า “มีแล้วไม่จนไปอีกชั่วโคตร”

มีคนแอบฝากให้ช่วยพูดแทนว่า สิ่งที่จูงใจให้คนอยากมีลูกอีกประการหนึ่ง คือการได้เห็นว่า “ลูกประสบความสำเร็จได้ตั้งแต่ยังอายุไม่เท่าไร” เขายกตัวอย่างว่า เขาอยากเห็นว่ามีคนรุ่นใหม่อายุไม่เท่าไรเข้าไปมีบทบาทในสภา ในฝ่ายบริหาร ฝ่ายกำหนดนโยบายบ้าง ไม่ใช่มีแต่แก่ๆ คิดอะไรแบบคนรุ่นเก่า พอมีคนรุ่นใหม่มาคิดอะไรเพื่อคนรุ่นใหม่มันทำให้รู้สึกว่าสังคมดูมีความหวังขึ้นเยอะเลย อันนี้จริงหรือไม่จริงก็ลองคิดดู

มีโจทย์ตั้งหลายข้อที่รัฐบาลต้องคิดเพื่อกระตุ้นการเกิด ไปจนถึงการดูแลผู้สูงอายุ.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”