“ได้นำ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้ในการ พัฒนาชุมชน เพื่อให้สามารถสนองตอบต่อ การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และสะท้อนเป้าหมาย SDGs”… “เพื่อเป็น หลักการและแนวทางในการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน รวมทั้งเป็น เครื่องมือในการวัดผลลัพธ์การพัฒนาชุมชนในเชิงประจักษ์ ด้วยความมุ่งหวังให้ชุมชน องค์กร ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และประเทศชาติ มีข้อมูลด้าน การพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน และสนองตอบต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม” …นี่เป็นหลักใหญ่ใจความสำคัญที่สะท้อนมาโดย รศ.ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ ในฐานะหนึ่งใน คณะกรรมการเศรษฐกิจพอเพียงและลดความเหลื่อมล้ำ หอการค้าไทย…

เกี่ยวกับ “คู่มือตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนฯ”

อีกหนึ่ง “เครื่องมือที่น่าสนใจสำหรับทุกภาคส่วน”

ทั้งนี้ โดยสังเขปเกี่ยวกับคู่มือฯ ดังกล่าว วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มีข้อมูลมาสะท้อนให้ลองพิจารณากัน ซึ่งชื่อเต็ม ๆ ของคู่มือฯ นี้คือ “คู่มือตัวชี้วัดผลลัพธ์การพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการเศรษฐกิจพอเพียงและลดความเหลื่อมล้ำ ร่วมกับภาคีเครือข่ายความร่วมมือ ซึ่งในคู่มือฯ ที่จัดทำขึ้นโดยมี “เป้าหมายสำคัญคือการพัฒนายั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม” ได้มีการระบุถึง “กรอบ” การพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

3 มิติหลัก คือ “เศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อม”

แต่ละมิติใน 3 มิติหลักตามกรอบการพัฒนานี้ ที่ยึดโยงการวัดผลลัพธ์การพัฒนาในเชิงประจักษ์ มีรายละเอียดในส่วนหลัก ๆ ดังนี้คือ… “มิติเศรษฐกิจ” แยกเป็น 2 ส่วนคือ รายได้ ที่มาจาก… การผลิต การตลาด การแปรรูป การท่องเที่ยวโดยชุมชน และ วินัยทางการเงิน ที่ครอบคลุมถึง… บัญชีครัวเรือน การออม การบริหารหนี้สิน การบริหารความเสี่ยงเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี และกับ “มิติสังคม” ก็จะแยกเป็น 2 ส่วนคือ คุณภาพชีวิต ที่เกี่ยวกับ… ปัจจัยสี่ สุขภาพ การศึกษา ประโยชน์สุข/ความสุข และ สังคมท้องถิ่น ที่หมายรวมถึง… วัฒนธรรมชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น สังคมคุณธรรม การเอื้อเฟื้อแบ่งปัน ส่วน “มิติสิ่งแวดล้อม” นั้น มิตินี้จะมุ่งเน้นที่ “ความยั่งยืน” ของ… การจัดการแหล่งน้ำชุมชน การจัดการป่าชุมชน การจัดการพลังงาน รวมถึงการจัดการขยะและมลพิษ 

ที่สำคัญ!!…ทั้ง 3 มิติหลักตามกรอบการพัฒนาชุมชนฯ ตามคู่มือตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนฯ ดังกล่าวนี้ จะมีเรื่อง “การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและภาคีเครือข่ายความร่วมมือ” เป็น ประเด็นสำคัญ” ด้วย

นอกจากมิติกรอบการพัฒนาดังที่ระบุมาข้างต้นแล้ว เมื่อโฟกัสที่เนื้อหาในส่วน “บทสรุปผู้บริหาร” ที่สืบเนื่องจากการจัดทำ “คู่มือตัวชี้วัดผลลัพธ์การพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่มีการระบุเกี่ยวกับ “ความสำคัญของการพัฒนาชุมชน” เนื้อหาส่วนนี้นี่ก็น่าพิจารณา ซึ่งโดยสังเขปมีว่า… การ “พัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” จะเป็นผลดีต่อการ “ลดความเหลื่อมล้ำ” ทางเศรษฐกิจและสังคม

และการที่หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคส่วนอื่น ๆ มีการ น้อมนำ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาประยุกต์ใช้เป็นหลักคิดและหลักปฏิบัติในการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็ง โดยที่มีการคำนึงถึงการสร้างความสมดุล มั่นคง ยั่งยืน ให้แก่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงวัฒนธรรม เช่นนี้ก็ จะช่วยให้คนในชุมชน อยู่ร่วมกันอย่างอยู่ดีมีสุข พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ”

อย่างไรก็ดี… เพื่อที่จะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และประหยัด ก็จำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการในการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ …ซึ่งในจุดนี้ คู่มือตัวชี้วัดฯ นี้ช่วยได้

ภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมสามารถ นำ คู่มือตัวชี้วัดผลลัพธ์การพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาประยุกต์ใช้ เป็นแนวทาง (Guideline) หรือเป็นเข็มทิศการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน เพื่อให้การพัฒนาชุมชนเป็นไปตามความต้องการ/ความพร้อม/ความสนใจขององค์กรและคนในชุมชน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพเพื่อเพิ่มความสามารถของคนในชุมชนเป็นเบื้องต้น เพื่อให้คนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาที่ ระเบิดจากข้างใน” ด้วยความ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” มีการระดมความคิดและวิเคราะห์ร่วมกัน โดย ยึดหลักเหตุผล” เพื่อวางแผนกระบวนการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนให้ดำเนินการอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ไม่เร่งรัดไม่รีบร้อน ค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เกิดผลสำเร็จได้จริง …นี่ก็เป็นส่วนที่น่าพิจารณา

ทั้งนี้ ภาคส่วนที่สนใจคู่มือตัวชี้วัดฯ ดังกล่าว ก็ติดต่อขอศึกษาได้จากทางฝ่ายจัดทำ คือหอการค้าไทย ขณะที่ในส่วนท้ายของเนื้อหาในส่วนบทสรุปผู้บริหารที่สืบเนื่องจากการจัดทำคู่มือฯ ก็ได้ระบุไว้ด้วยว่า… “คู่มือตัวชี้วัดผลลัพธ์การพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” นี้ นอกจาก ช่วยให้มีข้อมูลผลลัพธ์การพัฒนาชุมชนเชิงประจักษ์ แล้ว ยังสามารถนำข้อมูลผลลัพธ์การพัฒนาชุมชนเชิงประจักษ์นี้ไปใช้ประโยชน์เป็นข้อมูลของประเทศในภาพรวม เนื่องเพราะเป็น “ข้อมูลการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น” ที่สอดคล้องและสนองตอบ หรือที่ “บ่งชี้” ถึง…

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาที่ยั่งยืน”

โดย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”…อย่าง “แท้จริง” ???.