ยังเป็นประเด็นร้อนของสังคมไทยในปัจจุบัน กับข่าวการประกาศควบรวมกิจการกันระหว่าง 2 ค่ายโทรศัพท์มือถือ “ทรู-ดีแทค” ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในฐานะผู้บริโภคที่จะตามมา เพราะผู้ประกอบการมือถือจะลดลงจาก 3 ราย เหลือเพียง 2 ราย ลามไปถึงการวิพากษ์วิจารณ์ถึงบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลอย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมทั้งคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) สามารถทำอะไรได้บ้าง? จะช่วยเป็นปากเป็นเสียงให้กับผู้บริโภคได้มากน้อยแค่ไหน?

แต่ที่แน่ๆ เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา นายณภัทร วินิจฉัยกุล ในฐานะซูเปอร์บอร์ด กสทช. หรือกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.ต.ต.เลิศศักดิ์ วิทยาพันธุ์ เลขานุการ กสทช. เรื่องขอให้ปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจที่กฎหมายบัญญัติ และยกเลิกประกาศกสทช.เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 แล้วนำประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 กลับมาใช้ หรือนำออกมาเป็นแนวปฏิบัติ เพื่อออกประกาศใหม่ที่มีมาตรฐานเดียวกันมาใช้ ในการประกอบการพิจารณาดำเนินการเพื่อมีคำสั่งไม่ให้มีการควบรวมกิจการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ดีแทค”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 60 ระบุถึงการจัดสรรคลื่นความถี่ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ เพราะฉะนั้นการนำคลื่นความถี่มาใช้ในกิจการของภาคเอกชนจำเป็นต้องคำนึงถึง 3 ส่วนดังกล่าวเป็นสำคัญ หากการกระทำใดที่ขัดกับประโยชน์ของภาคประชาชน สาธารณชน และประเทศชาติ จึงเป็นสิ่งที่มีความสุ่มเสี่ยงกับการขัดต่อกฎหมาย

ควรถกกันให้กระจ่างชัดตามบทบัญญัติกฎหมาย

นายณภัทรเปิดเผยกับทีมข่าว “Special Report” ว่าในฐานะตนเป็นนักกฎหมาย และกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. มองว่าใครที่ยังฝ่าฝืนเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป อาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 157 เพราะมีข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ทางเศรษฐศาสตร์อยู่แล้วว่า ปัจจุบันมีค่ายมือถืออยู่ 3 ราย แต่กำลังจะเหลือ 2 ราย ซึ่งเป็นรูปธรรมชัดเจนว่าต้องมีการผูกขาด กระจุกตัว ลดสภาพของการแข่งขันลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน

ดังนั้นกรณีดังกล่าวจึงเป็นปัญหาของบ้านเมือง เพราะผู้บริโภคได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เมื่อแนวโน้มเป็นเช่นนั้น ภาคสังคมต่างๆจึงออกมาเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับรัฐบาล-สภา (กรรมาธิการ)-กสทช. และ กขค. ควรถกเถียงกันให้กระจ่างชัดตามบทบัญญัติของกฎหมาย ทั้งในรัฐธรรมนูญ และใน พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม เนื่องจากปัจจุบันเรากำลังพูดถึงปมปัญหา “นิเวศอุตสาหกรรมโทรคมนาคม” ของประเทศ ที่จะมีการควบรวมกิจการจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย ขณะเดียวกันผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ไม่มีทางเกิดได้เลย!

“ส่วนตัวมองว่า กสทช.ที่ยังรักษาการอยู่ขณะนี้ไม่ควรทำอะไรที่เป็นนโยบาย อะไรที่จะเป็นโครงสร้างของประเทศท่านอย่าไปแตะ แต่ควรรอให้ กสทช.ชุดใหม่ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการโปรดเกล้าฯ เข้ามาพิจารณา ส่วน กสทช.รักษาการสามารถไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเอาไว้ เก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆให้รอบด้าน หรือวางกรอบในการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเป็นข้อมูลให้กับ กสทช.ชุดใหม่ ไม่ใช่ฟังข้อมูลแต่ผู้ประกอบการเท่านั้น”

รายใหม่เกิดยาก-กสทช.อย่าฟังแต่ผู้ประกอบการ

นายณภัทร กล่าวต่อไปอีกว่า การไปยื่นหนังสือต่อ กสทช. เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อย้ำเตือนให้กสทช.ทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ เพราะการควบรวมกิจการระหว่าง “ทรู-ดีแทค” ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นโครงสร้างของธุรกิจสื่อสารของประเทศที่มีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนโดยตรง คือการมีอำนาจเหนือตลาด ทำให้ค่าบริการสูงขึ้น คุณภาพการให้บริการจะต่ำลง จากสภาพการแข่งขันที่ลดลง และผู้ประกอบการรายใหม่เกิดยากมากๆ วันนี้ต้องถาม กสทช.ว่ารับฟังความคิดเห็นสาธารณะบ้างหรือเปล่า หรือว่าเชิญแต่โอปเรเตอร์ (ผู้ประกอบการ) ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ไม่ได้เชิญภาคประชาชนเข้าไป ทั้งที่ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ มาตรา 28 เขียนไว้เป็นบทบัญญัติสำคัญเลยว่าท่านต้องทำเช่นนี้ จึงน่าแปลกใจว่าทำไมท่านถึงไม่ทำ?

ดังนั้นจึงอยากให้ กสทช.ได้ทบทวน ถึงกรอบอำนาจและหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติอย่างเต็มความสามารถ ในการพิจารณาการควบรวมของทรู-ดีแทค เพื่อไม่ให้เป็นข้อกังขาของสังคม ท่านต้องพิจารณาให้ดีว่ากำลังทำผิดกฎหมายตามบทบัญญัติของทั้งพ.ร.บ.กสทช. และรัฐธรรมนูญ มาตรา 60 ในเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่หรือไม่? ไม่เช่นนั้นอาจเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐในการทำงานเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศ ตามมาตรา 157

ความคล่องตัว “เอ็นที” สู้ภาคเอกชนไม่ได้

เมื่อถามถึงผู้ประกอบการรายใหม่มีสิทธิในการแจ้งเกิดหรือไม่? โดยเฉพาะบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือ “เอ็นที” ซึ่งเป็นการควบรวมกันระหว่าง “แคท-ทีโอที” จึงมีทั้งกำลังคน ทรัพย์สิน โครงข่าย และสำนักงานกระจายอยู่ทั่วประเทศ

นายณภัทร ตอบว่า เอ็นทีไม่ได้อยู่ในวิสัยที่จะทำธุรกิจแข่งขันกับภาคเอกชนเลย เพราะเอ็นทีมีภารกิจทำงานให้รัฐบาล ทำงานเพื่อประโยชน์ให้ชุมชนและสาธารณะน่าจะเหมาะสมกว่าการเข้าไปเป็นผู้แข่งขันในตลาด ถ้าพูดกันตามตรงคือถ้าจะเข้าไปทำธุรกิจเพื่อหวังผลกำไร เอ็นทีทำการตลาดสู้ภาคเอกชนไม่ได้หรอก ความคล่องตัวสู้ภาคเอกชนไม่ได้ กว่าเอ็นทีจะขยับคิดทำโครงการ กว่าจะไปของบสนับสนุนจากรัฐบาล เอกชนเขาไปถึงไหนแล้ว

ควบรวมได้-ต้องขายทรัพย์สินบางส่วนออกมา!

ทางด้าน นพ.ประวิทย์ ลี้สถาพรวงศา ในฐานะ กสทช. กล่าวกับทีมข่าว “Special Report” ว่าประเด็นปัญหาตอนนี้คือการตีความข้อกฎหมาย ว่าหน่วยงานใด โดยเฉพาะกสทช.มีอำนาจในการยับยั้งการควบรวมกิจการระหว่าง “ทรู-ดีแทค”หรือไม่? แต่ในเบื้องต้นสำนักงาน กสทช. ยืนยันว่า กสทช.ไม่มีอำนาจ! ซึ่งถ้าไม่มีอำนาจจริงๆ ก็ต้องสามารถกำหนดเป็นมาตรการหรือเงื่อนไขเฉพาะลงไปว่าควรทำอย่างไร เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับประชาชน

ทั้งนี้เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรู-ดีแทค และการค้าปลีก–ค้าส่ง สภาผู้แทนราษฎร ที่มี น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคเพื่อไทย เป็นประธานการประชุม โดยมีการเชิญผู้แทนจาก กสทช. และ กขค.เข้าร่วมประชุม เพื่อให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงต่างๆ ซึ่งทาง กมธ.จะทำหนังสือไปยังรัฐบาล (นายกรัฐมนตรี) เพื่อเร่งหาทางออกเรื่องนี้ โดยเฉพาะการตีความข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กสทช.ต่อกรณีดังกล่าว

ขอยกตัวอย่างในบางประเทศสามารถให้ควบรวมกิจการกันได้ แต่คุณต้องขายทรัพย์สิน ขายโครงข่าย (คลื่น) บางส่วนออกมา เพื่อให้ผู้ประกอบการรายใหม่มีสิทธิแจ้งเกิด สำหรับค่ายมือถือในประเทศไทยจาก 3 ราย กำลังจะเหลือแค่ 2 ราย พูดง่ายๆว่าแบ่งตลาดกันเลย 50 ต่อ 50 โอกาสของรายใหม่จึงยากมาก หรือถ้าอยากให้เกิดจริงๆ อาจจะให้เอกชนรายใหม่เข้ามาประมูล 5G เป็นจุดๆไป เช่นในเขตเศรษฐกิจพิเศษ คือทำเป็นหย่อมๆ น่าจะเกิดง่ายกว่าการทำเป็นโครงข่ายทั่วประเทศ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล


“สำหรับเอ็นที มีการพูดถึงกันว่ามีศักยภาพทำได้หรือไม่? เพราะมีทรัพย์สินทั้งไฟเบอร์-เสาสัญญาณ-คน-สำนักงาน พร้อม! โดยส่วนตัวมองว่าเอ็นทีต้องปฏิรูปกฎระเบียบและการบริหารจัดการองค์กรอีกมาก ขนาดคลื่นที่มีอยู่แล้วปัจจุบันยังใช้งานไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้รายได้ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ แล้วถ้าคิดทำโครงการใหม่ๆ ต้องของบประมาณจากรัฐบาล อีก 1-2 ปีกว่าจะได้งบประมาณ ภาคเอกชนเขาไปถึงไหนแล้ว ที่สำคัญคือกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอาจมีปัญหารั่วไหลได้ง่ายกว่าภาคเอกชน คงมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการทุจริตตามมามากมาย” นพ.ประวิทย์ กล่าว