เมื่อวันที่ 30 เม.ย. นายวีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ออกนโยบายและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการจัดการศึกษามาโดยตลอดในห้วงปีที่ผ่านมา และเพื่อเป็นการสะท้อนถึงมุมมองของประชาชนที่มีต่อผลงานการดำเนินงาน ตามนโยบายของ ศธ. เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปสู่การพัฒนา ปรับปรุง หรือต่อยอดขยายผลให้การดำเนินงานของ ศธ. สามารถตอบโจทย์บริบทการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของประชาชนได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

“เสมาโพล” จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 14,025 หน่วยตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 22-25 เมษายน 2565 สรุปผลการสำรวจได้ ดังนี้

ประชาชนให้คะแนนภาพรวมความพึงพอใจต่อผลงานของกระทรวงศึกษาธิการ จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ได้ 7.92 คะแนน นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ประชาชนมีความพึงพอใจ 3 อันดับแรก ได้แก่ นโยบาย “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” (8.15 คะแนน) รองลงมาคือ นโยบาย “พาน้องกลับมาเรียน” (8.03 คะแนน) และ นโยบาย “กศน. ปักหมุด” (7.88 คะแนน) ตามลำดับ ทั้งนี้ ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจผลงานของกระทรวงศึกษาธิการในด้านต่าง ๆ โดยเรียงตามอันดับจากมากไปน้อย ได้ดังนี้

อันดับ นโยบาย คะแนนความพึงพอใจ (10 คะแนน)
1 อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ 8.15
2 พาน้องกลับมาเรียน 8.03
3 กศน. ปักหมุด 7.88
4 โรงเรียนคุณภาพ 7.86
5 MOE Safety Center 7.80
6 แก้ไขปัญหาหนี้สินครู 7.80
ช่องทางการสื่อสารที่ประชาชนใช้ในการติดตามข้อมูลข่าวสารของกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน อันดับแรกคือ อินเทอร์เน็ต (ร้อยละ 90.54) รองลงมาคือ สถานศึกษา/หน่วยงานทางการศึกษา (ร้อยละ 45.87) โทรทัศน์ (ร้อยละ 32.32) เพื่อน/ญาติ/บุตรหลาน/คนในครอบครัว (ร้อยละ 20.08) หนังสือพิมพ์ (ร้อยละ 6.82) และวิทยุ (ร้อยละ 3.19) ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 71.75 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 28.25 เป็นเพศชาย

ตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 26.32 เป็นผู้มีอายุระหว่าง 30-39 ปี รองลงมาคือ ร้อยละ 24.57 เป็นผู้มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ร้อยละ 24.29 เป็นผู้มีอายุระหว่าง 40-49 ปี ร้อยละ 16.25 เป็นผู้มีอายุระหว่าง 50-59 ปี และร้อยละ 8.57 เป็นผู้มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ตามลำดับ

ตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 60.65 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี รองลงมาคือ ร้อยละ 29.26 จบการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรี และร้อยละ 10.09 จบการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ตามลำดับ

ตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 57.75 ประกอบอาชีพข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ รองลงมา ร้อยละ 18.61 ประกอบอาชีพพนักงาน/ลูกจ้างเอกชน ร้อยละ 7.56 เป็นผู้เกษียณอายุ ร้อยละ 5.78 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 4.78 ประกอบอาชีพค้าขาย/ประกอบธุรกิจส่วนตัว/อาชีพอิสระ ร้อยละ 2.46 เป็นผู้ว่างงาน/ไม่มีงานทำ/พ่อบ้าน/แม่บ้าน ร้อยละ 1.85 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ขับรถรับจ้าง/กรรมกร และร้อยละ 1.21 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ตามลำดับ