เมื่อวันที่ 2 พ.ค. นายจาตุรนต์ ฉายแสง แสดงความเห็นผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว “@Chaturon” กรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ระบุถึงพรรค พท. ยังก้าวไม่พ้นตระกูลชินวัตร หากชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์เป็นรัฐบาลอาจเจอรัฐประหารอีก ว่าคุณอภิสิทธิ์เห็นว่าในบางเงื่อนไข การรัฐประหารเป็นเรื่องจำเป็นหรือกระทั่งเป็นเรื่องถูกต้อง แต่ผมเห็นว่าไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายอย่างไร การรัฐประหารจะนำไปสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายยิ่งกว่าเสมอ บนหลักการประชาธิปไตยไม่มีข้ออ้างใดๆ ที่จะทำให้การรัฐประหารกลายเป็นสิ่งที่ชอบธรรม

“ผมเข้าใจผิดไปว่าคุณอภิสิทธิ์เปลี่ยนใจนาทีสุดท้าย ก่อนการเลือกตั้งเป็นไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจเผด็จการ แต่กาลเวลาก็พิสูจน์ว่าคุณอภิสิทธิ์กับแกนนำคนอื่นๆ ก็เพียงแค่แบ่งบทกันเล่นในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเท่านั้นเอง และยืนยันความคงเส้นคงวาของคุณอภิสิทธิ์ต่อการรัฐประหาร ที่ผมยังไม่เข้าใจก็คือเหตุใดคุณอภิสิทธิ์จึงออกมาพูดในตอนนี้ ทำไมจึงมาขู่ประชาชนว่าอย่าเลือกพรรคนั้นพรรคนี้ มิฉะนั้นจะเกิดรัฐประหาร ในขณะที่คนทั่วบ้านทั่วเมืองเขาเห็นกันหมดแล้วว่าการรัฐประหารที่ผ่านมาได้ทำให้บ้านเมืองเสียหายล่มจมไปแล้วอย่างไร” นายจาตุรนต์ ระบุ

ทางด้าน นายอภิสิทธิ์ กล่าวตอบโต้ นายจาตุรนต์ ว่า ตนหวังว่าคำวิพากษ์วิจารณ์ของนายจาตุรนต์เกิดจากการอ่านแค่พาดหัวข่าว ไม่ใช่การจงใจบิดเบือนสิ่งที่ตนได้ให้สัมภาษณ์ไว้ ทั้งนี้ ตนได้พูดชัดเจนว่าการที่ประชาชนจะสนับสนุนพรรคเพื่อไทยซึ่งอาจมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะทุกคนต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชนอยู่แล้ว แต่ตนเตือนว่าถ้า น.ส.แพทองธาร บริหารประเทศแล้วนำไปสู่การเอื้อประโยชน์ให้บุคคลในครอบครัวและพวกพ้อง ทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม ตลอดจนกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลทั้งหลาย รวมถึงองค์กรอิสระอาจเป็นเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารเหมือนกับในอดีตได้ ตนไม่เคยแสดงความคิดเห็นว่าการรัฐประหารมีความชอบธรรมทั้งในปี 49 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 57 ตนไม่เคยเรียกร้องหรือยอมรับว่าการรัฐประหารมีความชอบธรรม แต่ในทางตรงกันข้าม ตนได้พยายามเสนอทางออกเพื่อหลีกเลี่ยงการรัฐประหารตั้งแต่เดือนมี.ค. 57 อีกทั้งพยายามโน้มน้าวตัวแทนของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลในขณะนั้นให้แสวงหาทางออก จนถึงนาทีสุดท้ายก่อนการรัฐประหาร แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ที่นำเสนอเรื่องนี้เพื่อพยายามสรุปบทเรียนจากปัญหาการล้มลุกคลุกคลานของระบอบประชาธิปไตยในอดีต เพื่อเป็นแนวทางให้นักการเมืองทุกฝ่ายร่วมมือกันพัฒนาประชาธิปไตยต่อไป ตนไม่ได้มีส่วนได้เสียทางการเมืองในขณะนี้ เนื่องจากยังไม่มีแนวคิดที่จะหวนกลับเข้าสู่การเมืองในเร็ว ๆ นี้ ต่อประเด็นที่กล่าวถึงพรรคเพื่อไทยว่าก้าวไม่พ้นครอบครัวชินวัตรนั้น เป็นการสะท้อนความรู้สึกของประชาชนจำนวนมากที่มองเห็นว่าพรรคเพื่อไทย มีบุคลากรมากมาย รวมทั้งนายจาตุรนต์ที่อยู่ในสถานะที่จะนำพาพรรคให้เป็นสถาบันทางการเมืองได้มากขึ้น โดยตนไม่ได้วิจารณ์คุณสมบัติของ น.ส.แพทองธาร