นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้รายงานความคืบหน้าแผนการเดินรถไฟทางไกล ซึ่งเบื้องต้นได้กำหนดวันเริ่มย้ายรถไฟเชิงพาณิชย์ ให้มีต้นทางและปลายทาง จากเดิมที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เป็นสถานีกลางบางซื่อ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.65 รวมทั้งหมด 28 ขบวน แบ่งเป็น ขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์สายเหนือ 12 ขบวน และสายตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) 16 ขบวน ส่วนขบวนรถเชิงพาณิชย์สายใต้ รฟท. อยู่ระหว่างการพิจารณาให้บริการที่สถานีกลางบางซื่อ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการนำรถจักรใหม่มาให้บริการด้วย

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า รฟท. อยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการเยียวยาผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากการย้ายเส้นทางรถไฟเดิม มาใช้เส้นทางรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ทั้งผู้โดยสารรถไฟทางไกลเชิงพาณิชย์ และรถไฟเชิงสังคม เพราะเมื่อย้ายเส้นทางแล้วจะมีบางสถานีไม่สามารถให้บริการได้ โดยเมื่อได้ข้อสรุป รฟท. จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบล่วงหน้าทันที นอกจากนี้ยังได้รับรายงานด้วยว่า รฟท. กำลังพิจารณาจัดทำฟีดเดอร์รถไฟสายตะวันตก เส้นทางนครปฐม-ตลิ่งชัน เพื่อเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าสายสีแดง อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนด้วย

นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า สำหรับรูปแบบการเดินรถไฟในปัจจุบันนั้น ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รฟท. จึงได้ปรับลดขบวนรถไฟที่ให้บริการที่สถานีหัวลำโพงลง จากเดิม 124 ขบวน ลดเหลือ 102 ขบวน แบ่งเป็น รถไฟเชิงพาณิชย์ 54 ขบวน และรถไฟเชิงสังคม 48 ขบวน รฟท. ยังมีแผนทยอยปรับเพิ่มการเดินรถให้สอดรับกับความต้องการเดินทางของประชาชนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งอยู่ระหว่างเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อจัดหาหัวรถจักร และตู้โดยสารใหม่ ตลอดจนให้ฝ่ายการช่างกลเร่งปรับปรุงหัวรถจักร และตู้โดยสาร เพื่อนำมาเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างเพียงพอ

รายงานข่าวจาก รฟท. แจ้งว่า ปัจจุบัน รฟท. ยังคงนำรถไฟทางไกล (ดีเซลราง) ที่ไม่มีผู้โดยสาร วิ่งทดสอบเดินรถบนทางยกระดับในเส้นทางเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีแดงอย่างต่อเนื่อง เพื่อทดสอบการเดินรถ, ระบบอาณัติสัญญาณ, ความพร้อมของทาง และสร้างความคุ้นเคยให้กับพนักงานขับรถ ซึ่งจะมีการทดสอบจนกว่าจะเปิดให้บริการรถไฟทางไกลที่สถานีกลางบางซื่อ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาที่จะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการเบื้องต้นผลการทดสอบที่ผ่านมา เป็นไปด้วยความราบรื่น ไม่พบปัญหาใด

ขณะนี้มีเพียงสถานีรังสิต ที่รถไฟทางไกลกับรถไฟฟ้าสายสีแดงใช้สถานีร่วมกันแล้ว แต่คนละส่วนกัน เพราะได้ยกเลิกสถานีเก่าไปก่อนหน้านี้ โดยรถไฟทางไกลอยู่ด้านล่างสามารถวิ่งจากระดับดินเข้าสู่สถานีรังสิตใหม่ได้เลย ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีแดงอยู่ด้านบน ซึ่งเป็นทางยกระดับ ส่วนสถานีอื่นๆ เมื่อเปิดให้บริการรถไฟทางไกลที่สถานีกลางบางซื่อ ก็จะสามารถเดินรถร่วมในเส้นทาง และใช้ชานชาลาบนสถานีของรถไฟฟ้าสายสีแดงได้เช่นกัน.

ขอบคุณภาพประกอบจาก การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และสุดหล่อ