สำนักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองซีอาน ประเทศจีน เมื่อวันที่ 6 เม.ย. ว่าการปลูกถ่ายอวัยวะซึ่งใช้เวลานาน 6 ชั่วโมง กับอีก 15 นาทีครั้งนี้ ได้รับคำแนะนำจาก นายโต้ว เคอเฟิง นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน และดำเนินการโดยทีมงานที่นำโดย นพ. ฉิน เว่ยจวิน จากโรงพยาบาลซีจิง ในเครือมหาวิทยาลัยการแพทย์กองทัพอากาศ ที่เมืองซีอาน ในมณฑลส่านซี ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน


ทีมงานได้ย้ายไตหมูที่ผ่านการตัดต่อยีน ใส่ลงในบริเวณท้องน้อยฝั่งขวาของผู้ป่วยคนดังกล่าว โดยหลังจากถอดอุปกรณ์หนีบห้ามเลือดออก พบว่าไตที่ปลูกถ่ายสามารถผลิตน้ำปัสสาวะได้ทันที ส่วนการอัลตราซาวนด์ระหว่างผ่าตัด เผยให้เห็นการไหลเวียนของเลือดที่ดี ซึ่งบ่งชี้ว่า ไม่มีปฏิกิริยาต่อต้านร้ายแรงต่ออวัยวะใหม่


แผนการผ่าตัดเพื่อปลูกถ่ายไตหมูดัดแปลงพันธุกรรม ผ่านการพิจารณาและอนุมัติโดยคณะกรรมการด้านวิชาการ และจริยธรรมต่าง ๆ และดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องของจีนอย่างเคร่งครัด โดยครอบครัวของผู้ป่วยยินดีมีส่วนร่วมกับการวิจัยครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าทางการแพทย์


ทั้งนี้ การวิจัยการปลูกถ่ายข้ามสายพันธุ์ ( Xenotransplantation ) มีความก้าวหน้าอย่างมาก ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีการพัฒนาเชิงลึกในด้านเทคโนโลยีการตัดต่อยีนและภูมิคุ้มกันวิทยา และอาจกลายเป็นแนวทางซึ่งมีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนอวัยวะสำหรับการปลูกถ่าย


นอกจากนั้น การวิจัยครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการปลูกถ่ายข้ามสายพันธุ์ในจีน ซึ่งจะปูทางสู่การวิจัยและประยุกต์ใช้การปลูกถ่ายประเภทนี้ในทางคลินิก พร้อมมอบทางเลือกใหม่ให้กับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในอนาคต


อนึ่ง เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่ผ่านมา โรงพยาบาลแห่งนี้ประสบความสำเร็จ ในการปลูกถ่ายตับหมูดัดแปลงพันธุกรรม ให้กับผู้ป่วยที่มีภาวะสมองตาย ซึ่งอวัยวะสามารถทำงานได้ดีในร่างกายมนุษย์เป็นระยะเวลา 10 วัน ก่อนการศึกษาจะสิ้นสุดลง ตามความต้องการของครอูบครัวผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ.

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA