สหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผยแพร่รายงาน “ตัวเลขภัยแล้งประจำปี 2565” ในช่วงที่มีการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ (ซีโอพี) ประจำปี ครั้งที่ 15 ที่จัดขึ้นโดย อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย (ยูเอ็นซีซีดี) โดยมีใจความสำคัญว่า ความแห้งแล้งเพิ่มขึ้น 29% ในพื้นที่หนึ่ง และปัญหานี้จะเกิดเร็วมากขึ้น แม้ความแห้งแล้งจะมีส่วนในภัยพิบัติทางธรรมชาติเพียง 15% แต่นับเป็นสัดส่วนของการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติมากถึง 45% รวมไปถึงสารานุกรมของสถิติที่น่าเป็นห่วงอื่น ๆ

จากปี 2541-2560 ภัยแล้งสร้างความเสียหายไปมากกว่า 124,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.3 ล้านล้านบาท) และคร่าชีวิตประชากรโลกราว 650,000 คน ระหว่างปี 2513 และ 2562 อีกทั้งรายงานยังเตือนว่า ในปัจจุบัน มีประชากรมากกว่า 2,300 ล้านคน รวมไปถึงเด็ก 160 ล้านคน อาศัยอยู่ในปัจจัยแวดล้อมที่มีทรัพยากรน้ำไม่มั่นคง

Al Jazeera English

ยิ่งไปกว่านั้น หากสภาวะแล้งยังเลวร้ายลง และไม่มีการจัดการกับปัญหานี้ จะมีผู้ลี้ภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากถึง 700 ล้านคน ภายในปี 2573, ประชากรเด็กประมาณ 1 ใน 4 ของโลกจะอยู่ในสถานที่ขาดแคลนน้ำ “อย่างรุนแรง” ภายในปี 2583 และประชากรมากกว่า 3 ใน 4 ของโลก อาจได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ภายในปี 2593

สรุปแล้ว สภาวะแล้งที่เลวร้ายลง รวมเข้ากับความล้มเหลวในการเก็บเกี่ยวพืชผล, ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และภาวะประชากรล้น อาจบีบบังคับให้ประชากรมากถึง 216 ล้านคน ต้องย้ายถิ่นฐาน ซ้ำเติมวิกฤติผู้ลี้ภัยที่มีอยู่ และสร้างความเสียหายต่อรัฐบาลที่ไม่ได้เตรียมรับมือหายนะเช่นนี้ ตามที่รายงานระบุ

แม้แอฟริกาจะเป็นทวีปที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากกว่าทวีปอื่น แต่ทวีปเอเชีย ซึ่งมีจำนวนประชากรมาที่สุดในโลก กลับมีความเสี่ยงต่อภัยแล้งมากที่สุด อีกทั้งภัยแล้งรุนแรงของออสเตรเลียในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ถูกมองว่าอาจทำให้เกิด “ไฟป่าขนาดยักษ์” ส่วนทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ ต่างประสบกับความสูญเสียทางการเกษตรที่เกี่ยวกับภัยแล้งมากขึ้น

ขณะที่ ป่าฝนแอมะซอนในทวีปอเมริกาใต้ ถูกคาดการณ์ว่าจะเสียพื้นที่ป่า 16% ภายในปี 2593 หากรูปแบบพฤติกรรมไม่มีการเปลี่ยนแปลง

สำหรับการแก้ปัญหา อิบราฮิม เทียว เลขานุการบริหารของยูเอ็นซีซีดี เน้นความพยายามของเขาไปที่การคืนสภาพพื้นดิน และเสนอแนะให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ สร้างภูมิประเทศที่สามารถ “เลียนแบบธรรมชาติ” ด้วย “ระบบนิเวศที่ทำงานได้” โดยยกตัวอย่างถึงประเทศไนเจอร์ ซึ่งเกษตรกรสร้างระบบวนเกษตรขึ้นมาใหม่บนพื้นที่ราว 12 ล้านเอเคอร์ ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เทียว ยังเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแนวปฏิบัติของยูเอ็น จากการตอบสนองต่อวิกฤติ เป็นการป้องกันล่วงหน้า คำนวณความเสี่ยง และดำเนินการตามแผน ก่อนที่สถานการณ์จะบานปลาย โดยเขากล่าวว่าจะต้องมีระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพ, เงินทุนที่เพียงพอ และความมุ่งมั่นทางการเมืองในการทำงานให้สำเร็จ

ไม่ว่ามนุษยชาติจะจัดการกับปัญหาอย่างไร โลกกำลังเผชิญกับ “ระยะเวลาและผลกระทบของภัยแล้ง ที่ยาวนานและรุนแรงมากขึ้น” เขาเขียนในรายงาน “ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลต่อสังคมมนุษย์ แต่รวมถึงระบบนิเวศที่เป็นความอยู่รอดของทุกชีวิตที่พึ่งพิงอาศัย”

นอกจากนี้ การแก้ปัญหาอื่น ๆ ที่มีการเสนอในรายงาน มีเป้าหมายของยูเอ็มตามปกติรวมอยู่ด้วย อาทิ ลดการบริโภคเนื้อสัตว์และการใช้ที่ดิน, เพิ่มการเฝ้าระวังทั้งธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์ เพื่อสร้าง “ระบบเตือนภัยล่วงหน้า”, ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เพื่อประเมินและบริหารจัดการปัญหาต่าง ๆ, ประกาศพื้นที่สงวนทางธรรมชาติ, ใช้การบรรยายเพื่อดึงพฤติกรรมทางสังคมที่ต้องการออกมา และสร้างระบบควบคุมข้ามชาติ เพื่อหลีกเลี่ยงการเมืองท้องถิ่นที่ไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งเป้าหมายเหล่านี้เป็นเหมือนกับสิ่งที่ยูเอ็นต้องการในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นกัน

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES