เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมนักข่าวฯ จัดเสวนา “ถอดบทเรียนจริยธรรมสื่อ ทำงาน จัดฉาก ไสยศาสตร์ วงการสงฆ์”

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กสทช.ตั้งข้อสังเกต เวลาเราพูดถึงเสรีภาพสื่อจะเป็นเรื่องในเชิงการเมืองหรือการแสดงความคิดเห็น ที่อาจมีข้อจำกัด จึงทำให้สื่อไปแสดงออกในเรื่องของการใช้เสรีภาพในประเด็นอื่นๆ แทนจนอาจล้ำเส้นจริยธรรมไปโดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกแรงบีบทางการเมืองหรือไม่ทางแก้คือการประคับประคองไม่ให้ล้ำเส้น แต่ก็ไม่ให้ต่ำกว่าเส้น คือเส้นต่อความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเอาประโยชน์สาธารณะเป็นตัวตั้ง ซึ่งการหลีกเลียงการการนำเสนอประเด็นทางการเมือง เช่น วัคซีน หรือการตรวจสอบภาครัฐ จนถูกฟ้องร้องทำให้สื่อต้องไปเสนอเรื่องที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เช่น กรณีบ้านกกกอก หรือกรณีหลวงปู่แสง ซึ่งเป็นจุดวิกฤติของสื่อไทยที่ถูกวิจารณ์

น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า กรณีหลวงปู่แสงเราจะเห็นว่าพลังของผู้บริโภคคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในการแทรกแซงสื่อให้อยู่หมัด จนเป็นครั้งแรกที่เห็นองค์กรสื่อออกมาแสดงความรับผิดชอบกันมากขนาดนี้ จึงน่าจะเป็นจุดที่ดีในการแปรวิกฤติให้เป็นโอกาสในการหาจุดสมดุลร่วมกัน โดยยึดประโยชน์สาธารณะเป็นตัวตั้ง

นายวุฒิชัย พุ่มสงวน ศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิเด็ก เยาวชน และสถาบันครอบครัว กล่าวว่า มาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดไว้ว่าผู้ที่ประกอบอาชีพสื่อมวลชนมีกรอบปฏิบัติในเรื่องจริยธรรม แสดงให้เห็นว่าสื่อมวลชนเป็นอาชีพที่ประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างสูง มีบทบาทในการชี้นำสังคม ทั้งนี้ข้อกฎหมายที่นักข่าวมักเจอคือ การดูหมิ่นซึ่งหน้า หมิ่นประมาท ดูหมิ่นศาล ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน มาตรา 112 ที่ต้องระวังอีกมาตราที่เข้ามาใหม่ คือ มาตรา 366/4 ดูหมิ่นเหยียดหยามศพ เป็นต้น เป็นสิ่งที่ผู้สื่อข่าวต้องระมัดระวังในการทำงาน นอกจากนั้นตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ดูหมิ่นพระสังฆราช ดูหมิ่นคณะสงฆ์ ความผิดเกี่ยวกับการศาสนาเป็นสิ่งที่สื่อต้องระมัดระวังในการทำหน้าที่ และขอย้ำว่า สื่อมืออาชีพคือสื่อที่รับผิดชอบต่อสังคม ถ้าเมื่อไรคุณรับผิดชอบต่อสังคมถึงคุณจะมีมือถือเครื่องเดียวคุณก็คือสื่อมืออาชีพ

ส่วนนักข่าวที่ถูกให้ออกสามารถอุทธรณ์ได้หรือไม่นั้น นายวุฒิชัย กล่าวว่า กรณีนายจ้างและลูกจ้างในบริษัทเอกชน เราสามารถไปฟ้องที่ศาลแรงงานกลางได้ โดยไม่ได้ต้องทนาย และมีนิติกรคอยช่วยให้คำปรึกษาได้ ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ ส่วนการอุทธรณ์นั้นหมายถึงการทำงานในหน่วยงานภาครัฐมากกว่า ขณะที่การโต้แย้งคำสั่งภายในองค์กรได้หรือไม่นั้นก็แล้วแต่เป็นเรื่องภายในขององค์กรที่สังกัดว่าสามารถทำได้หรือไม่

นายพีรวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า ในมุมของตนการแข่งขันของสื่อมันเดินมาถึงจุดที่
เรียกว่าคุณทำมากกว่านี้ เรตติ้งก็ไม่เพิ่มมากกว่านี้ ดังนั้นภาพรวมยังมีโอกาสที่จะสามารถทบทวนได้ว่าการแข่งขันแบบนี้มันคุ้มค่า สร้างรายได้ มากเพียงพอที่จะเสียจุดยืนสื่อหรือไม่

“เคสที่เกิดขึ้นกับหลวงปู่แสงเห็นได้ชัดเลยว่ากระแสโซเชียลหรือกระแสสังคม มีความไม่ยอมรับชัดเจนเกิดขึ้นและเมื่อสูญเสียตรงนี้ มันทำให้เห็นภาพว่าถ้ายังคงอยู่อย่างนี้ต่อไป โอกาสที่จะทำให้เกิดการแข่งขันหรือสิ่งที่คิดว่าจะสร้างเรตติ้งและรายได้มีโอกาสที่จะกระทบกระเทือน ผมถึงอยากจะมองภาพรวมว่ากระบวนการทำงานของสื่อที่อยู่ภายใต้เชิงพาณิชย์น่าจะถึงเวลาที่ต้องทบทวน สิ่งที่เกิดขึ้นภาพที่เราเห็นเป็นแค่ปลายเหตุ การแข่งขันที่รุนแรงทำให้การบริหารจัดการกองบรรณาธิการ รายการข่าว เนื้อหา ขาดความละเอียดอ่อน ขาดความรัดกุม ขาดการตรวจสอบ จึงทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา เด็กคนเดียวไม่สามารถสร้างสิ่งเหล่านั้นได้ ถ้าเกิดเรามีมาตรฐานการควบคุมที่ดี สิ่งที่เกิดท่ามกลางการแข่งขันของรายการจึงบีบคั้นให้ผู้ที่ทำงานต้องทำทุกทางเพื่อให้ได้มาซึ่งคอนเทนต์ นอกจากนั้นมาตรฐานของผู้สื่อข่าวยังเป็นเรื่องของตัวตนในโซเชียลเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้การมีตัวตนต้องแสดงออกด้วยพฤติกรรมบางอย่าง เพราะคนที่ทำแบบนี้ได้รางวัล ได้รับการยอมรับและมีตัวตนในโซเชียลมีเดีย” นายพีรวัฒน์ กล่าว