รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) แจ้งว่า สำนักสำรวจและออกแบบ ได้จัดประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 3) โครงการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับ จุดตัดทางหลวงหมายเลข 42 กับทางหลวงหมายเลข 410 (แยกตะลุโบะ) ที่ ศาลากลางจังหวัดปัตตานี อ.เมืองปัตตานี จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่าผลการประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทุกภาคส่วนเห็นด้วยกับรูปแบบโครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร และมีการรอคอยสะพานข้ามแยกตะลุโบะมานานกว่า 20 ปีกว่าวันนี้จะมาถึง หลังจากนี้ขอให้เร่งดำเนินการก่อสร้าง เพื่อรองรับการจราจรในอนาคต รวมทั้งให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้ทาง และมีผลกระทบต่อชุมชนน้อยที่สุด

หลังจากนี้จะนำความคิดเห็นจากการประชุมมาประกอบผลการศึกษาให้สมบูรณ์มากที่สุด ก่อนจะเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเห็นชอบ ขณะเดียวกันจะเตรียมของบประมาณในปี 67 จำนวน 900 ล้านบาท เพื่อก่อสร้าง คาดแล้วเสร็จภายในปี 70 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี

โครงการดังกล่าวไม่มีการเวนคืนที่ดิน หรือจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพราะดำเนินการในพื้นที่เขตทางหลวงทั้งหมด รูปแบบโครงการออกแบบเป็นสะพานข้ามจุดตัดทางแยกในแนวทางหลวงหมายเลข 42 (สายคลองแงะ-จุดผ่านแดนถาวรสุไหงโก-ลก (เขตแดนไทย/มาเลเซีย) หรือ ถนนเพชรเกษมสายปัตตานี-นราธิวาส เชื่อมต่อกับสะพานข้ามแม่น้ำปัตตานีด้านฝั่งแยกตะลุโบะ เป็นสะพานคู่ขนานขนาด 4 ช่องจราจร

ด้านล่างบริเวณจุดตัดทางแยกใต้สะพานปรับปรุงเป็นแยกสี่แยกสัญญาณไฟจราจร ทำให้การสัญจรในแนวถนนยะรัง และทางหลวงหมายเลข 410 สายปัตตานี-เบตง สามารถเชื่อมต่อกันอย่างมีประสิทธิภาพ ความสูงช่องลอดใต้สะพาน (Clearance) มากกว่า 5.5 เมตร พร้อมจุดกลับรถใต้สะพานทั้ง 2 ฝั่ง ปรับทิศทางการจราจรเป็นแบบเดินรถทางเดียว เพื่อความรวดเร็วในการสัญจรและลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุรุนแรง

ส่วนแนวถนนโครงการออกแบบให้มีทางเท้ากว้าง 3.00 เมตร และมีไหล่ทาง 2.00-2.50 เมตร ตลอดแนวทั้งสองฝั่งถนน ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างครอบคลุมพื้นที่โครงการทั้งหมด ผิวจราจรแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก ออกแบบจำนวนช่องจราจรบริเวณทางแยกเพียงพอ สำหรับรองรับปริมาณจราจรในอนาคต พื้นที่โครงการแนวทางหลวงหมายเลข 42 ระยะทางประมาณ 1.90 กม. และในแนวทางหลวงหมายเลข 410 ระยะทางประมาณ 0.33 กม.

สำหรับแยกตะลุโบะ ซึ่งเป็นจุดทางแยกที่มีปริมาณการจราจรหนาแน่น และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และเป็นแนวเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้า ปัจจุบันทางแยกดังกล่าวเป็นทางแยกสัญญาณไฟจราจรและการสัญจรในแนวทางหลวงหมายเลข 410 ต้องกลับรถบริเวณใต้สะพานข้ามแม่น้ำปัตตานี และกลับรถบนแนวทางหลวงหมายเลข 42 ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง

เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยแก้ปัญหาจุดเสี่ยงทางแยก ลดอุบัติเหตุ รองรับปริมาณจราจรเพิ่มขึ้นในอนาคต ตลอดจนสนับสนุนโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เดินทางสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย

โครงการดังกล่าว สำนักสำรวจและออกแบบ ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท พีทีอีเอ็นจิเนียริ่งคอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท วิศวกร 31 จำกัด และ บริษัท สิ่งแวดล้อมสยาม จำกัด ให้เป็นผู้สำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการ เริ่มต้นสัญญาวันที่ 20 ก.พ.64 จนถึง 15 พ.ค.65 ระยะเวลา 1 ปี 3 เดือน งบศึกษา 18 ล้านบาท