เมื่อวันที่ 26 พ.ค. นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อม นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต นายสัตว์แพทย์หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี นายบุญเกื้อ เจี้ยมดี ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 สาขาเพชรบุรี นายวันชัย สิงห์โต ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า และนายสุรศักดิ์ อนุเมธางกูร หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย และสัตวแพทย์จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงพื้นที่โรงเรียนพรหมานุสรณ์ อ.เมือง จ.เพชรบุรี แก้ปัญหาหลังมีลิงแสม บุกทำร้ายนักเรียนรับบาดเจ็บ เหตุเกิดเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา โดยสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทรายได้นำสัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่ผู้มีความชำนาญงานด้านสัตว์ป่า มาแนะนำให้ความรู้กับครูและนักเรียนในการดูแลและปฏิบัติ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสัตว์ป่า โดยเฉพาะสิงแสมที่มีชุกชุมในพื้นที่ พร้อมทั้งนำลิงกัง 2 ตัว ผูกไว้ที่ต้นไม้บริเวณเชิงเขาภายในโรงเรียนให้ลิงกังเดินไปมาได้ เพื่อป้องกันลิงแสม ไม่ให้ลงมารบกวนนักเรียนเป็นการชั่วคราว

นายยุทธพล กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาลิงรบกวนต้องมีการแก้ไขปัญหาในทุกประเด็น เช่นในบางจุดที่มีลิงเยอะอาศัยรวมฝูงในจุดต่างๆ เพราะมีคนคอยให้อาหารอยู่เป็นประจำ สิ่งที่ต้องทำคือการปรับพฤติกรรมของคนไม่ให้กระทำในสิ่งที่เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลิงแสม เช่น การให้อาหาร เป็นต้น โดยวันนี้ ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ นำเอาภูมิปัญญาของชาวเพชรบุรี มาใช้ในการแก้ไขปัญหาลิงแสมรบกวน คือการใช้ลิงกัง จำกัดพื้นที่การอยู่อาศัยของลิงแสม ซึ่งภายหลังจากที่ได้ทดลองใช้ลิงกังมาควบคุมและจำกัดพื้นที่ของลิงแสมช่วงเช้าแล้วนั้น พบว่าลิงแสมจำนวนมากเกรงกลัวลิงกัง และหลบกลับขึ้นไปในพื้นที่ควบคุม นับว่าเป็นการปฏิบัติงานในระยะสั้นที่ได้ผล ส่วนระยะต่อไปจะดำเนินการตามขั้นตอนที่ได้กำหนดไว้อย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อสร้างความสบายใจให้ครู อาจารย์ นักเรียน และผู้ปกครอง ในสถานศึกษาแห่งนี้

นายสัตวแพทย์ภัทรพล กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องของปัญหาสัตว์ป่ารบกวนชาวบ้าน การมาครั้งนี้ได้นำเอาผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการสัตว์ป่าจากกรมอุทยานแห่งชาติฯมาให้คำแนะนำนักเรียนและครูอาจารย์ ในการป้องกันตัวจากการถูกสัตว์ป่ารบกวน พร้อมทั้งนำเจ้าหน้าที่มาทำการสำรวจและเก็บข้อมูลของพฤติกรรมสัตว์ป่า เพื่อนำไปทำการวิเคราะห์และหาทางในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของสัตว์ป่า เพื่อให้คนและสัตว์ป่า สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

หมอล็อต กล่าวอีกว่า สำหรับโรคฝีดาษลิง ขณะนี้กำลังเป็นโรคที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก กรมอุทยานแห่งชาติฯในฐานะหน่วยงานที่ควบคุมและตรวจสอบการส่งออก นำเข้า หรือนำส่งต่อเพื่อการค้าซึ่งชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าที่ระบุไว้ในบัญชี หมายเลข 1 หมายเลข 2 และหมายเลข 3 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้ สูญพันธุ์ (CITES) ได้ดำเนินการควบคุมตามมาตรการต่างๆอย่างเคร่งครัด ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง แต่อย่างไรก็ตาม กรมอุทยานฯ มีแผนดำเนินการสำรวจและเฝ้าระวังเชิงรุกและย้อนกลับไป ซึ่งที่ผ่านมามีการสำรวจและเฝ้าระวังลิงในพื้นที่ จ.เพชรบุรี อย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเกิดกรณีดังกล่าว กรมฯจะเพิ่มโรคนี้ในชื่อของโรคที่เฝ้าระวังเพิ่มขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้หากมีการสัมผัสสัตว์ให้รีบล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด ให้สังเกตอาการ หากพบมีความผิดปกติ เช่น มีไข้ มีตุ่มผื่นที่ใบหน้า แขน และขา ให้รีบพบแพทย์ทันที.