สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ว่า จากการศึกษาร่วมกัน โดยคณะนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรและอินโดนีเซีย ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนที่แล้ว ในวารสาร Ecological Indicators ระบุว่า ทีมนักวิจัยใช้คลิปเสียงหลายร้อยคลิปในการฝึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อเฝ้าตรวจสอบสุขภาพของปะการังจากการฟัง

ปะการังที่แข็งแรงสมบูรณ์จะมี “เสียงปะทุเหมือนกองไฟ” ที่ซับซ้อน เป็นเพราะสิ่งมีชีวิตทั้งหมดที่อยู่อาศัยโดยรอบและภายในปะการัง ขณะที่ปะการังเสื่อมจะมีเสียงที่ว่างเปล่ามากกว่า นายเบน วิลเลียมส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาศาสตร์ และนักวิจัยนำของทีม กล่าว

นักวิจัยติดตั้งไฮโดรโฟนบนปะการัง ใต้ทะเลแห่งหนึ่ง ในจังหวัดสุลาเวสีใต้ของอินโดนีเซีย

ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ จะวิเคราะห์หน่วยข้อมูลต่าง ๆ เช่น ความถี่และความดังของเสียงจากคลิปเสียง และสามารถทำการระบุด้วยความแม่นยำอย่างน้อย 92% ว่าปะการังนั้นแข็งแรงหรือเสื่อมสภาพ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์หวังว่า ระบบเอไอใหม่นี้จะช่วยเหลือกลุ่มนักอนุรักษ์ทั่วโลก ในการติดตามสุขภาพของปะการังได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ด้านนายซิยาฟยูดิน ยูซุฟ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและอาจารย์ชาวอินโดนีเซีย จากคณะวิทยาศาสตร์ทางทะเล ที่มหาวิทยาลัยฮาซานุดดิน กล่าวว่า การวิจัยจะช่วยในการเฝ้าสังเกตสุขภาพปะการังในอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ กลุ่มนักวิจัยยังหวังที่จะเก็บรวบรวมบันทึกเสียงใต้ทะเลจากแนวปะการังในออสเตรเลีย เม็กซิโก และหมู่เกาะเวอร์จิน เพื่อช่วยให้เข้าถึงความคืบหน้าของโครงการฟื้นฟูปะการังด้วย.

เครดิตภาพ : REUTERS