เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนสั่งให้คุณหญิงสุรัตน์ สุนทรเวช ภรรยานายสมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และนางกาญจนากร ไชยลาโภ นางกาญจนาภา มุ่งถิ่น บุตรสาว ในฐานะทายาทของนายสมัคร รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จำนวน 587,580,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 23 พ.ย 53-วันที่ 10 เม.ย. 64 และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งออกตามความในมาตรา 7 วรรค 2 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.64 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ยื่นฟ้อง คุณหญิงสุรัตน์, นางกาญจนากร, นางกาญจนาภา ให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ที่นายสมัครต้องรับผิดชอบจากกรณีทุจริตในโครงการจัดซื้อเรือและรถดับเพลิง พร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของกรุงเทพมหานคร กับบริษัทสไตล์เออร์ เมื่อปี 47-48 ซึ่งกระทรวงการคลัง กำหนดให้นายสมัคร ซึ่งเป็น 1 ใน 6 ของผู้ร่วมกระทำผิด ต้องรับผิดชดใช้เป็นเงิน 956,931,442 บาท

โดยศาลปกครองสูงสุด ให้เหตุผล สั่งให้ทายาททั้ง 3 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีนายสมัครทำละเมิด เนื่องจากนายสมัคร ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในขณะนั้น มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการ กทม.และเป็นผู้มีอำนาจสั่งซื้อ เรือและรถดับเพลิงพร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย รวมถึงทราบถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดซื้อตามที่ พล.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เสนอเรื่องผ่านคุณหญิงณัฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานคร ขณะนั้น เพื่อให้พิจารณามาโดยตลอด แต่นายสมัคร ไม่ได้มีการตรวจสอบหรือทักท้วงถึงการกระทำดังกล่าว และยังคงอนุมัติให้ กทม.จัดซื้อให้ราคาที่ซื้อสูงเกินจริ’ เป็นเงินจำนวน 1,958,600,000 บาท

การกระทำของนายสมัครจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและถือเป็นการกระทำละเมิดต่อ กทม.ตามมาตรา 420 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยเมื่อความเสียหายที่ กทม.ได้รับ เกิดจากการจัดซื้อที่ไม่เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการพัสดุ พ.ศ.2538 ทำให้ราคาที่ซื้อสูงเกินจริงเป็นเงินจำนวน 1,958,600,000 บาท และการจัดซื้อยังมีผู้เกี่ยวข้องหลายราย จึงสมควรกำหนดสัดส่วนความรับผิดชอบของนายสมัคร โดยเทียบเคียงแนวทางการกำหนดสัดส่วนความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง mตามหนังสือกระทรวงการทางด่วนที่สุดที่ กค.0406.2/ว.66 ลงวันที่ 25 ก.ย. 50 ที่กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาขั้นสูงหรือผู้มีอำนาจอนุมัติสั่งซื้อรับผิดกรณี ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบด้านการจัดซื้อจัดจ้าง เนื่องจากกำหนดราคาสูงกว่าความเป็นจริง

โดยให้รับผิดในอัตราร้อยละ 30 ของมูลค่าความเสียหายเมื่อ นายสมัครเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของ กทม. และเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติสั่งซื้อจึงสมควรต้องรับผิดต่อ กทม. ในอัตราร้อยละ 30 ของความเสียหายจากเงินจำนวน 1,958,600,000 บาท คิดเป็นเงินที่ต้องรับผิด 587,580,000 บาท และเมื่อความรับผิดอันเกิดจากการกระทำละเมิดของนายสมัครต่อ กทม. เป็นความรับผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินเป็นเงินมิใช่ความรับผิด ซึ่งตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของนายสมัครผู้ตายโดยแท้

ดังนั้นบุคคลทั้ง 3 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายสมัคร จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 587,580,000 บาทให้แก่กรุงเทพมหานคร โดยไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดให้แก่ตน ทั้งนี้ตามมาตรา 1600 และมาตรา 1601 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์.