เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 29 มิ.ย. ที่รัฐสภา นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แถลงผลการประชุมว่า กมธ. ได้พิจารณาในประเด็นคุณสมบัติของผู้กู้ยืม กยศ. ตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.กองทุน กยศ. พ.ศ.2560 โดยมีความเห็นว่าควรมีการขยายโอกาสให้นักเรียน หรือนักศึกษาที่เป็นชาติพันธุ์ กลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง หรือผู้มีสถานะบุคคลที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย ซึ่งอยู่ระหว่างขอสัญชาติไทยให้เข้าถึงกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาได้ โดย กมธ.ได้หารือเพื่อบัญญัติถ้อยคำให้ครอบคลุมถึงบุคคลดังกล่าว และได้เสนอให้ใช้ คำว่า “กลุ่มบุคคลที่รอการพัฒนาสถานะทางทะเบียนของ กรมการปกครอง” ซึ่งเราจะนำมาบัญญัติเพิ่มเติมไว้จากเดิมที่ระบุในร่างนี้เพียงว่า “เฉพาะมีสัญชาติไทย” จึงจะเข้าถึงกองทุนนี้ได้

ทั้งนี้ กมธ. มีความเห็นว่าเด็กไทยทุกคนที่เกิดหรืออยู่ในพื้นแผ่นดินไทย และอยู่ระหว่างรอการพิสูจน์สัญชาติควรที่จะมีสิทธิเข้าถึงกองทุน กยศ. ซึ่งขณะนี้กรรมาธิการฯ ได้พิจารณาครบทุกมาตราแล้ว ทาง กมธ. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อร่าง พ.ร.บ.นี้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระ 2-3 จะได้รับความเห็นชอบเพื่อให้สามารถประกาศใช้โดยเร็ว

ทางด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ (ปช.) ฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ …) พ.ศ. … เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมาที่ประชุม กมธ.ได้มีมติประเด็นเรื่องการคิดดอกเบี้ย เบี้ยปรับ และผู้ค้ำประกันใหม่อีกครั้ง ซึ่ง กมธ.เสียงส่วนใหญ่โหวตให้คงมติตามเดิมที่มีมติไปแล้ว คือ อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 0.25 ต่อปี โดยไม่มีเบี้ยปรับเงินเพิ่มในกรณีการผิดนัดชำระหนี้ และให้ยกเลิกภาระผู้ค้ำประกันทั้งหมด ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ ได้พิจารณามาตรา 24 ที่เป็นบทเฉพาะกาล มีสาระสรุปว่า “…พระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับแก่ผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันซึ่งกู้ยืมเงิน หรือค้ำประกันไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ยกเว้นเงินเพิ่มให้กับผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันดังกล่าวด้วย”

การมีมติให้มีผลย้อนหลังอันเป็นประโยชน์ต่อผู้กู้และผู้ค้ำประกันที่มีอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับด้วย จะทำให้ผู้กู้กว่า 2 ล้านคนที่ผิดนัดชำระหนี้อยู่ในขณะนี้ ต้องมีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่สูงมาก จะได้รับการช่วยเหลือและบรรเทาภาระ โดยให้เป็นการผ่อนชำระเพียงเงินต้นและดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 0.25 ต่อปี ไม่มีเบี้ยปรับและผู้ค้ำประกันก็จะหลุดพ้นจากความรับผิดชอบด้วย แต่ทางพรรค ปช. เห็นว่าตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 54 เป็นหน้าที่ของรัฐในการต้องจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา จึงไม่ควรมีการคิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ซึ่ง กมธ.เสียงส่วนใหญ่ได้อธิบายในกรณีผู้ที่เห็นว่าดอกเบี้ยขัดหลักการศาสนานั้นได้กำหนดค่าใช้จ่ายในการบริหารหรือการกำหนดค่าดำเนินการ โดยใช้คำว่า “ประโยชน์อื่นใด” แทน “ดอกเบี้ย” (ไม่เกินร้อยละ 0.25 ต่อปี) สำหรับผู้กู้ที่นับถือศาสนาอิสสลาม หรือมีความเชื่อตามหลักศาสนาที่ไม่ให้มีการคิดดอกเบี้ย

“การพิจารณาครั้งสุดท้ายในสัปดาห์หน้า จะมีการพิจารณาขยายโอกาสให้นักเรียนหรือนักศึกษาที่เป็นคนไทยแต่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย ให้สามารถเข้าถึงการกู้ยืมเงินจากกองทุนด้วยได้” พ.ต.อ.ทวี กล่าว.