เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่กระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ให้การต้อนรับ นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย และสมาชิกสหภาพแรงงาน ในโอกาสเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อติดตามข้อเรียกร้องกรณีให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและยกเลิกการจ้างรับเหมาค่าแรงและแผนรองรับผลกระทบแรงงานจากการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า

นายสุชาติ กล่าวว่า สำหรับข้อเรียกร้องที่สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทยได้ยื่นหนังสือในวันนี้ มีดังนี้ 1. ให้รัฐบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 1/1 อย่างเคร่งครัด “ยกเลิกการจ้างงานรับเหมาค่าแรง” 2. ให้รัฐบาลควบคุมสินค้าอุปโภค บริโภคให้สอดกล้องกับภาวะเศรษฐกิจและสังคม 3. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำอัตโนมัติอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจเท่ากันทั่วประเทศและปรับค่าจ้างจากรายวันเป็นรายเดือนเมื่อทำงานครบ 1 ปี และนับอายุงานอย่างต่อเนื่อง

4. ให้รัฐบาลมีแผนรองรับผลกระทบการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าต่อแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และที่เกี่ยวเนื่อง 4.1. ให้ตั้งศูนย์พัฒนาฝีมือให้แรงงานกลุ่มต่างๆ ในทุก ๆ ภาคเพิ่มทักษะอาชีพใหม่บริหารจัดการอย่างมืออาชีพและงานใหม่ที่จะเกิดตามทิศทางตลาดและเศรษฐกิจใหม่ในยุค 4.0 เช่น AI ดิจิตอล อาชีพเสริมอื่นๆ  4.2.ให้ความคุ้มครองในเรื่องการเลิกจ้าง เงินชดเชยให้เป็นธรรมมากกว่า มาตรา 118 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ให้ความช่วยเหลือพนักงานที่ โดนเลิกจ้างเข้าถึงขบวนการศาลยุติธรรม 4.3.ตั้งกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างที่โดนเลิกร้างจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 4.4.ให้ตั้งคณะกรรมการว่าด้วยการเจริญเติบโตการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและการจ้างงานประสานความร่วมมือเพื่อติดตามคุ้มครองดูแลปัญหาลูกจ้างที่มีผลกระทบกับการงาน และการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า

5. ขอให้ยกเลิกประกาศกระทรวงแรงงานเรื่อง ให้ข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้เข้าสู่การชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และห้ามนายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงานในระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 6.ให้เร่งรัดนำร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับแก้ไข พ.ศ. …. เข้าสู่การพิจารณาสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเสนอเป็นกฎหมายให้มีผลบังคับใช้เป็นประโยชน์กับผู้ประกันตน 7. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2558 โดยมีสาระสำคัญ 2 เรื่อง ดังนี้ 7.1 เปิดโอกาสให้ลูกจ้างสามารถจ่ายเงินสะสมในอัตราสูงกว่านายจ้างจ่ายเงินสมทบได้โดยต้องเป็นไปตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับกองทุน แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้าง 7.2. การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 และ 8.คัดค้านร่าง พ.ร.บ.แรงานสัมพันธ์ พ.ศ. …..ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

นายสุชาติ กล่าวว่า จากการหารือในวันนี้ผมได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน รวบรวมข้อเรียกร้องและข้อคัดค้านทั้งหมดจากกลุ่มองค์กรแรงงาน โดยจะเชิญกลุ่มผู้นำแรงงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมหารือเพื่อชี้แจงในรายละเอียดว่าเรื่องใดที่กระทรวงแรงงานทำได้ก็จะดำเนินการต่อไป ส่วนเรื่องที่ทำไม่ได้ก็จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ส่วนประเด็นคัดค้านร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ ฉบับปรับปรุง ซึ่งวันที่ 29 มิ.ย.65 ได้มีผู้แทนสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย และตัวแทนสภาองค์การลูกจ้างอื่นๆ ได้ร่วมหารือกับกระทรวงแรงงาน โดยมีท่านผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ได้ร่วมหารือกรณีไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. …. ฉบับที่แก้ไข โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 9) ซึ่งในเรื่องนี้ กระทรวงแรงงานติดตามมาโดยตลอด และให้ความสำคัญในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายแรงงานทุกฉบับ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่นายจ้างและลูกจ้าง โดยจะสรุปรายละเอียดส่งให้เลขาธิการ ครม. นำเสนอรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล สั่งการให้กฤษฎีกานำร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ พร้อมข้อเสนอแนะและข้อคัดค้านของกลุ่มองค์กรแรงงานไปพิจารณาทบทวน โดยให้เชิญทั้งฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง ฝ่ายรัฐ และผู้แทนไอแอลโอ เพื่อให้ความเห็นประกอบการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายนี้ ให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายก่อนเสนอร่าง พ.ร.บ.ฯ ไปยังสภาผู้แทนราษฎรตามขั้นตอนต่อไป

นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในวันนี้ผมและพี่น้องสหภาพแรงงานยานยนต์ฯ ที่มายื่นหนังสือเพื่อติดตามข้อเรียกร้องถึงนายกฯ ผ่านนายสุชาติ ให้ช่วยควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ยกเลิกการจ้างรับเหมาค่าแรงและแผนรองรับผลกระทบแรงงานจากการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า พร้อมมอบดอกไม้ให้กำลังใจท่านรัฐมนตรีสุชาติ ที่ท่านช่วยคลี่คลายปัญหาตามข้อเรียกร้องแต่ละข้อว่าข้อใดสามารถทำได้ ไม่ได้อย่างไร เพื่อสร้างความสบายใจและคลายความกังวลให้แก่ลูกจ้างได้.