เมื่อวันที่ 13 ก.ค. นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผอ.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยถึงกรณีที่ผู้ประกอบการเอกชนรถโดยสาร (รถเมล์) สาย 8 แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ จะเตรียมหยุดเดินรถในเร็วๆ นี้ หลังจากที่ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบการเดินรถกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ตามที่ได้มีการเปิดให้ผู้ประกอบการยื่นคำขอเดินรถในเส้นทางดังกล่าวไปเมื่อปี 64 เพื่อให้เป็นไปตามโครงการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ระบุว่า 1 เส้นทางต้องมีผู้ประกอบการรายเดียวนั้น ปัจจุบัน ขสมก. ยังให้บริการเดินรถโดยสารปรับอากาศ (รถเมล์แอร์) สาย 8 เส้นทางเคหะชุมชนร่มเกล้า-สะพานพระพุทธยอดฟ้าปกติ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสารไปจนกว่าผู้ประกอบการเดินรถรายใหม่ จะสามารถนำรถใหม่มาบรรจุในเส้นทางให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ ขบ. กำหนด

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับรถเมล์สาย 8 ของ ขสมก. นั้น ได้นำรถโดยสารปรับอากาศชานต่ำ (Low Floor) ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) 25 คัน มาให้บริการ เมื่อวันที่ 16 ก.ค.64 จนถึงปัจจุบัน จัดเก็บค่าโดยสารตามระยะทางราคา 15-20-25 บาท ให้บริการเวลา 05.00-22.00 น. เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนในการเดินทางระหว่างพื้นที่ชานเมือง และพื้นที่ในเมือง รวมทั้งเกิดการเชื่อมต่อไปยังระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ เช่น รถไฟฟ้าได้ในราคาที่ประหยัดและรวดเร็ว

สำหรับเส้นทาง สาย 8 เดิมทีมีผู้ประกอบการให้บริการ 4 บริษัท แบ่งเป็นให้บริการรถเมล์ธรรมดา (รถเมล์ร้อน) 3 บริษัท และให้บริการถเมล์แอร์ 1 บริษัท ซึ่งต่อมาบริษัทเอกชนที่ให้บริการรถเมล์แอร์ได้เลิกกิจการไป ทำให้ ขสมก. ต้องมาเดินรถทดแทน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเส้นทางดังกล่าว

ส่วนเอกชนที่ให้บริการรถเมล์ร้อน 3 บริษัทยังคงให้บริการตามปกติ จากกระทั่ง ขบ. ได้เปิดให้ผู้ประกอบการยื่นขอใบอนุญาตเดินรถในเส้นทางดังกล่าวใหม่ ตามโครงการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ และเอกชนทั้ง 3 บริษัทไม่รับการคัดเลือก จึงทำให้ต้องหยุดการเดินรถในเส้นทางดังกล่าว เพื่อให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ได้รับใบอนุญาตเดินรถในเส้นทางดังกล่าวมาเดินรถทดแทน เป็นไปตามโครงการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ที่ 1 เส้นทางต้องมีผู้ประกอบการรายเดียวเท่านั้น

นอกจากนี้การให้บริการสาย 8 ที่ผ่านมา ได้รับการร้องเรียนจากผู้โดยสารจำนวนมากในกรณีด้านลบ เช่น ขับรถเร็ว ขับแซง ขับปาดหน้า และแย่งผู้โดยสาร รวมทั้งมีการเสนอข่าวสถิติการร้องเรียนรถเอกชนร่วมบริการสาย 8 ว่ามีจำนวนถึงปีละ 345 ครั้ง ทำให้เมื่อปี 2559 ตอนนั้นสาย 8 เป็นรถร่วมบริการ ขสมก. และอยู่ในการกำกับดูแลของ ขสมก. ได้มีการแก้ปัญหาเรื่องนี้จริงจัง โดยมีมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น จัดทำประวัติพนักงานขับรถ พนักงานเก็บค่าโดยสาร เพื่อกำกับดูแลพนักงาน อบรมมารยาทการให้บริการ จัดเจ้าหน้าที่ ขสมก. สุ่มตรวจท่าต้นทาง-ปลายทาง และจัดประชุมรายงานผลดำเนินการทุก 2 สัปดาห์ เพื่อแก้ไขภาพลักษณ์การให้บริการที่ไม่ดีต่อไป