พ.ท.หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวต่อผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่มีการนำรูปภาพสลากฯ ไปโพสต์จำหน่าย โดยปกปิดสาระสำคัญบนใบสลากฯ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า เป็นสลากที่ถูกนำไปวนขายหลายทอด โดยไม่มีสลากฯ จริง หรือที่เรียกกันว่าสลากทิพย์ตามที่ปรากฏเป็นข่าว

อีกทั้ง ยังมีกรณีการนำสลากฯ ที่ไม่ถูกรางวัลไปปลอมแปลงแก้ไขตัวเลขแล้วนำไปหลอกขายให้กับประชาชนที่หลงเชื่อต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง อีกทั้งหากนำสลากฯ ปลอมแปลงแก้ไขมาขึ้นเงินรางวัล ก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอีกด้วย ซึ่งประเด็นเหล่านี้ ทำให้ประชาชนผู้ซื้อได้รับความเดือดร้อน นอกจากการต้องซื้อสลากฯ ราคาเกินกว่าที่กำหนดแล้ว ยังอาจจะถูกหลอกลวงจากการที่ไม่มีสลากฯ ฉบับจริง หากถูกรางวัลจะไม่สามารถขึ้นเงินรางวัลได้ 

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สำนักงานสลากฯ จึงได้ปรับรูปแบบของข้อมูลบนใบสลากจากเดิม “ชุดที่” จะอยู่ใต้ “งวดวันที่” ปรับเปลี่ยนเป็น พิมพ์หมายเลข “ชุดที่” เพิ่มโดยพิมพ์ทับลงบน “งวดวันที่” ซึ่งจะทำให้เห็นเลขชุดได้อย่างชัดเจน ในตำแหน่งเดียวกับงวดวันที่ ซึ่งเป็นส่วนที่ผู้โพสต์ขายจะต้องเปิดเผยให้ผู้ซื้อเห็นได้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว นอกเหนือจากหมายเลขบนใบสลากฯ เมื่อผู้ซื้อสลากฯ ทราบหมายเลขชุด ก็จะสามารถตรวจสอบได้ว่า สลากฯ ฉบับนั้นๆ ได้ถูกนำไปขายที่อื่นด้วยหรือไม่

นอกจากนี้ ยังเป็นการป้องกันการปลอมแปลงบนใบสลากฯ แล้วนำไปหลอกขายให้กับประชาชนอีกด้วย ทั้งนี้ รูปแบบดังกล่าวจะเริ่มพิมพ์ออกจำหน่ายตั้งแต่งวดวันที่ 1 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป