รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งว่า รฟม. ได้คัดคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางที่มีคำพิพากษาว่า การมีมติยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และการคัดเลือกเอกชนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการออกประกาศฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมายเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายอยู่ระหว่างพิจารณา คาดว่าจะเสนอรายงานให้กระทรวงคมนาคมรับทราบในเร็วๆ นี้

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ครั้งที่ 2 วงเงินประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ที่จะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 27 ก.ค.นี้นั้น ณ วันนี้ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนจะต้องเลื่อน หรือยกเลิกให้เอกชนยื่นข้อเสนอหรือไม่นั้น ต้องรอให้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี เป็นผู้พิจารณาอยู่ระหว่างนัดหมายการประชุมคณะกรรมการฯ คาดว่าจะประชุมพิจารณาให้ได้ข้อสรุปก่อนวันที่ 27 ก.ค.นี้

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล แบ่งการดำเนินโครงการเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ส่วนตะวันออก มีระยะทาง 22.5 กิโลเมตร (กม.) เป็นทางวิ่งใต้ดิน 13.6 กม. และทางยกระดับ 8.9 กม. มีสถานีรถไฟฟ้า 17 สถานี แบ่งเป็น สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันออกเมื่อวันที่ 19 เม.ย.59 ภายใต้กรอบวงเงินลงทุน 82,907 ล้านบาท และเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 2 พ.ค.60 ปัจจุบันงานโยธาส่วนตะวันออก รวม 6 สัญญา คืบหน้าประมาณ 95.31% มีกำหนดเปิดให้บริการปี 68 (เลื่อนจากแผนเดิมที่จะเปิดบริการปี 66)

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า ขณะที่ส่วนตะวันตก มีระยะทาง 13.4 กม. เป็นใต้ดินตลอดสาย มีสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินรวม 11 สถานี ครม.อนุมัติให้ดำเนินโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ตามรูปแบบ PPP Net Cost มีระยะเวลา 30 ปี นับจากวันเริ่มเปิดให้บริการส่วนตะวันออก โดยเอกชนมีหน้าที่ออกแบบ และก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันตก พร้อมจัดหาติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า ให้บริการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงรักษาระบบรถไฟฟ้าตลอดเส้นทาง ทั้งส่วนตะวันออก และตะวันตก หรือตั้งแต่มีนบุรี (สุวินทวงศ์)-บางขุนนนท์ รัฐจะสนับสนุนค่าออกแบบและก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันตกไม่เกินกรอบวงเงิน 96,012 ล้านบาท มีกำหนดเปิดให้บริการตลอดสายปี 70

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า รฟม. จำเป็นต้องดำเนินโครงการส่วนตะวันตกให้สอดคล้องกับแผนงานก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันออกที่คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือน ต.ค.65 เพราะหากดำเนินโครงการส่วนตะวันตกล่าช้า จะทำให้งานก่อสร้างส่วนตะวันออกที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์เปิดให้บริการรถไฟฟ้าแก่ประชาชนได้ และทำให้ภาครัฐมีภาระต้องจัดสรรเงินงบประมาณในการดูแลรักษา (Care of Work) โครงสร้างงานโยธาส่วนตะวันออกโดยไม่จำเป็น เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณของชาติ ซึ่ง รฟม. ประมาณการว่าต้องใช้เงินประมาณเดือนละ 41.26 ล้านบาท ในการดูแลรักษาโครงสร้างโยธาส่วนตะวันออกที่แล้วเสร็จไปก่อน โดยยังไม่นับรวมความเสียหายด้านเศรษฐกิจ และการเงินอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นแก่รัฐ และประชาชน ซึ่งประเมินค่ามิได้ เพราะเสียหายมหาศาล ทั้งนี้วงเงินดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับที่ผู้รับเหมาก่อสร้างงานโยธาสายตะวันออกต้องรับประกันงาน 2 ปีหลังก่อสร้างแล้วเสร็จ ————————-