จากกรณีผู้ที่ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้โพสต์ขอความช่วยเหลือช้าง 4 เชือก ภายในฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์สมุทรปราการ ซึ่งมีสภาพอดอยาก และเจ็บป่วย ถูกผูกกับหลักยาวนาน จนโซ่บาดลึกเข้าไปในเนื้อข้อเท้า โดยเมื่อวันที่ 19 ก.ค. เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบพบช้างเกิดการบาดเจ็บที่ขาจากโซ่ที่ตรึงที่ขาช้างนั้น ได้มีการสลับโซ่ที่ขาของช้างแล้ว และได้มีการรักษาจากสัตวแพทย์ และช้างไม่ได้มีอาการของความเครียดให้เห็นเด่นชัด จึงไม่เป็นการเข้าข่ายการทารุณกรรมสัตว์แต่อย่างใด แต่ได้กำชับกับผู้เลี้ยงว่าควรลดการใส่โซ่ตรึงไว้ที่ขาเป็นเวลานาน เพื่อลดอาการบาดเจ็บ และไม่เป็นการเพิ่มความเครียดให้กับตัวสัตว์ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

คืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ก.ค. ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปยังฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์จังหวัดสมุทรปราการ ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าฟาร์มจระเข้แห่งนี้ยังคงไม่เปิดให้เข้าใช้บริการแต่อย่างใด หลังจากหยุดกิจกรรมในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มานานกว่า 2 ปี ประตูหน้าทางเข้าถูกปิดล็อกตาย รวมทั้งลานจอดรถบัสด้านหน้าก็ปิดตายด้วยลูกกรงเหล็กเช่นกัน โดยได้พยายามติดต่อนายอุเทน ยังประภากร ผู้เป็นเจ้าของฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์ฯ ทางโทรศัพท์ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง แต่ไม่สามารถติดต่อได้

ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด เพื่อสอบถามผลการเข้าตรวจสอบฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์ฯ ดังกล่าวเมื่อวันที่ 19 ก.ค. โดยนายแกนเพชร เนียนแนบ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ เปิดเผยว่า ในส่วนการดำเนินการทั้งหมดนี้จะเป็นของส่วนกลางที่แจ้งมาส่วนภูมิภาค คือ ทางจังหวัดจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งในเบื้องต้นสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสมุทรปราการ จะเป็นฝ่ายประสานงานกับส่วนงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วนของกรมปศุสัตว์ ของกรมอุทยานฯ ที่จะดำเนินการลงมาในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือ

เบื้องต้นได้มีการวางแผนในการเข้าช่วยเหลือในส่วนของการให้อาหารช้างที่มีปัญหาเรื่องโภชนาการ ซึ่งในวันที่ 25 ก.ค. และวันที่ 26 ก.ค. ที่จะถึงนี้ หน่วยงานส่วนกลางและทางกรมอุทยานฯ มีแผนจะลงพื้นที่พร้อมกันอีกครั้ง และจากการเข้าตรวจสอบในครั้งแรกมาจนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่ได้เจอกับตัวเจ้าของฟาร์มจระเข้แห่งนี้แต่อย่างใด พบแต่เพียงผู้เลี้ยงช้างเท่านั้น ซึ่งทางผู้เลี้ยงจะเป็นผู้ประสานงานกับทางเจ้าของเอง ซึ่งการดำเนินการในส่วนของช้าง ปัจจุบันเองก็มีปัญหาในเรื่องสุขภาพที่ยังผอมอยู่ แต่ในอนาคตก็คือการเพิ่มปริมาณอาหาร ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับช้างที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณขา ก็มีการดำเนินการแก้ไขให้ในเบื้องต้นแล้ว ส่วนที่ว่าจะเข้าข่ายการทารุณกรรมสัตว์หรือไม่นั้น ปัจจุบันยังไม่พบว่าเข้าข่ายแต่อย่างใด เนื่องจากการดำเนินการของเจ้าของฟาร์มเองก็มีการช่วยเหลือช้าง ในกรณีที่ช้างบางตัวมีปัญหาเรื่องสุขภาพ แนวทางการแก้ปัญหาของทางฟาร์ม ก็คือให้ทางคุณหมอมาดูเรื่องสุขภาพ และดำเนินการเปลี่ยนโซ่ที่ทำอันตราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรักษา

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบครั้งนี้พบว่าผู้เป็นเจ้าของฟาร์มดังกล่าว มีความผิดเข้าข่ายในเรื่องการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2561 ในมาตรา 4 ข้อ 4 สัตว์ที่มีเจ้าของหรือครอบครองให้เจ้าของหรือผู้ครองต้องดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ของตัวเองให้เหมาะสม (1) จัดให้สัตว์ได้รับอาหารและน้ำในปริมาณและคุณภาพที่เหมาะสมแก่ประเภท ชนิด ลักษณะ สภาพ และอายุของสัตว์ ในกรณีเลี้ยงสัตว์เป็นกลุ่มควรแน่ใจว่าสัตว์แต่ละตัวได้รับอาหารและน้ำอย่างทั่วถึง (3) จัดให้สัตว์มีสุขภาพอนามัยที่ดี มีการจัดการในการควบคุมป้องกันโรคที่เหมาะสม และให้การรักษาเมื่อสัตว์ป่วยหรือบาดเจ็บโดยไม่ชักช้า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เจ้าหน้าที่ที่ลงพื้นที่ในวันก่อนอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอน.