เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ศาลาว่าการ กทม.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงกรณีเหตุเพลิงไหม้สถานบันเทิง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก เมื่อคืนที่ผ่านมาว่า ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น และเป็นอุทาหรณ์สำคัญของ กทม. ซึ่งมีสถานบันเทิงอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก ที่ผ่านมาเคยมีเหตุการณ์อย่างล่าสุด ที่สีลมซอย 2 เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่โชคดีที่เกิดขึ้นตอนกลางวันและไม่ได้ลุกลามมาก โดยเราได้สั่งการตั้งแต่วันนั้นแล้วว่าให้เขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบสถานบันเทิง หรือสถานประกอบการ เรื่องทางหนีไฟ อุปกรณ์ดับเพลิง สายไฟที่หมดอายุ ซึ่งได้มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง และเป็นสิ่งที่ประมาทไม่ได้ โดยเฉพาะในช่วงที่เราจะเปิดเมือง นักท่องเที่ยวที่กำลังจะกลับมา ต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทย พร้อมกันนี้ ได้มอบหมาย พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม.เป็นหัวหน้าทีมในการตรวจเชิงรุกให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น เป็นจังหวะที่ดีในการสร้างความมั่นใจให้กลับคืนมา ที่ทำอยู่แล้วก็ต้องทำให้เข้มข้นมากขึ้น รวมถึงประสานกับตำรวจในการดำเนินการ

ด้าน น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดเหตุเพลิงไหม้สถานบันเทิงที่สีลมซอย 2 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีคำสั่งให้ตรวจตรา สถานบันเทิง ทั้งทางเข้าออก รวมถึงโครงสร้างสายไฟและอุปกรณ์การใช้งานทั้งหมด จึงได้มีการประสานแผนการตรวจ เดิมสำนักงานเขตตรวจสอบเรื่องมาตรการป้องกันโควิดอยู่แล้ว ซึ่งสถานบันเทิงต่างๆ ต้องรายงานเรื่องโรคและสถานประกอบการอยู่แล้ว นอกจากนี้ เราได้ให้เขตตรวจสอบเพิ่มว่าสถานประกอบการต่างๆ มีข้อร้องเรียน อะไรหรือไม่ ในส่วนนี้ได้เพิ่มมิติการตรวจสอบด้านความปลอดภัยในแต่ละสัปดาห์ และรายงานมายัง ศบค. กทม.

ขณะเดียวกัน สำนักงานเขตต้องมีแผนเข้าตรวจสถานบันเทิงร่วมกับสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) เพื่อตรวจสอบทางหนีไฟ ทางเข้า-ออกอาคาร การจัดพื้นที่ภายใน รวมถึงตรวจจุดเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อเพลิงหรือกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้แล้วจะเป็นอุปสรรค และจากเหตุการณ์เพลิงไหม้สถานบันเทิงที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ได้สั่งการให้ตรงจเข้มข้นมากขึ้น เพิ่มความถี่ในการเข้าพื้นที่มากยิ่งขึ้นด้วย รวมทั้งต้องดูพื้นที่โดยรอบสถานบันเทิงอยู่ใกล้ชุมชนหรือไม่หากมีชุมชนอยู่ด้วยเมื่อเกิดเรื่องอาจมีข้อจำกัดในการเข้าพื้นที่ที่ยากลำบากมากขึ้น ประชาชนที่อยู่บริเวณนั้นอาจมีความเสี่ยงเพิ่มเติม

พล.ต.อ.อดิศร์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ที่ผ่านมาได้ตรวจพื้นที่เป้าหมายที่เริ่มเปิดให้บริการ โดยตรวจทั้งเรื่องทางหนีไฟระบบไฟฟ้า การตั้งสิ่งกีดขวางทางหนีไฟเมื่อเวลาเปิดทำการ และอุปกรณ์ดับเพลิง ขณะเดียวกันได้ตรวจสอบมาตรการการควบคุมโรคติดต่อ เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ประสาน กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ในการส่งบัญชีรายชื่อของสถานประกอบการที่ได้รับอนุญาตประมาณ 250 แห่ง รวมถึงสถานที่ที่เปิดในลักษณะสวนอาหารนอกโซนนิ่ง ซึ่งจะทยอยตรวจเชิงรุกช่วงกลางวัน บางส่วนอาจต้องลงพื้นที่ช่วงที่เปิดบริการจริง เพื่อดูบรรยากาศและสถานการณ์จริงด้วย และจะรายงานให้ผู้ว่าฯ กทม. รับทราบต่อไป

ด้านนายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ถือโอกาสตรวจสอบสถาน ประกอบการที่ไม่ได้รับอนุญาต ยิ่งหากเกิดเหตุเพลิงไหม้ในสถานที่ที่ผิดกฎหมาย ไม่ได้รับใบอนุญาตยิ่งอันตราย และเราปฏิเสธความรับผิดชอบตรงนี้ไม่ได้

“สถานบริการที่ถูกกฎหมายส่วนใหญ่ก็จะมีทางเข้าออก ทางหนีไฟตามกฎหมาย แต่พอปฏิบัติจริงจะเห็นว่ามีเก้าอี้ โต๊ะไปวางขวางทาง มีป้ายทางออกชัดเจน แต่สำหรับผู้มาเที่ยวที่ไม่คุ้นเคยสถานที่จะไม่สามารถเห็นทางออกได้ อันนี้ก็เป็นตัวกังวล อย่างที่สีลมซอย 2 มีทางออก 2 ทางจริง แต่ไปอยู่หลังร้าน และมีโต๊ะวางขวางอยู่ จึงต้องทำในเชิงปฏิบัติสุดท้ายใช้งานจริงๆต้องปฏิบัติอย่างไร จึงต้องมีหน่วยไปตรวจสอบแบบไม่เป็นทางการ เพื่อให้เห็นภาพจริง คงไม่แห่ไปเพราะจะไม่เห็นชีวิตจริงที่เกิดขึ้นได้” นายชัชชาติ กล่าว

นอกจากนี้ กังวลสถานประกอบการที่เปิดแบบหนึ่ง แต่ไปทำพฤติกรรมอีกแบบหนึ่ง เช่น เป็นร้านอาหาร ร้านข้าวต้ม มีคนหนาแน่นและเปิดได้ยาว เพราะเปิดเป็นร้านอาหาร แต่พฤติกรรมอาจจะดัดแปลงไป อันนี้อาจจะดูเรื่องความปลอดภัยไม่ครบถ้วนตามสถานบริการที่ขออนุญาตตามกฎหมาย ซึ่งต้องดูให้ครอบคลุมหมด เพราะเรารับผิดชอบ ประชาชนอาจไม่ทราบว่าอันไหนถูกต้องไม่ถูกต้อง