เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม. 2 (ดินแดง) นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสถานประกอบการ สถานบันเทิง สถานบริการในพื้นที่กรุงเทพฯ เกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมาย มาตรฐานด้านความปลอดภัย และการป้องกันอัคคีภัยว่า เมื่อเดือนที่ผ่านมา กทม. ได้ตรวจสถานประกอบการ 494 แห่ง พบไม่ถูกต้อง จำนวน 83 แห่ง ปัจจุบัน ได้สั่งปิดให้บริการแล้ว 3 แห่ง อยู่ระหว่างการดำเนินคดี 2 แห่งแก้ไขเรียบเรียบร้อยแล้ว 4 แห่ง ออกหนังสือให้แก้ไขแล้ว 12 แห่ง อยู่ระหว่างออกหนังสือให้ดำเนินการแก้ไข 62 แห่งโดยให้ระยะเวลาสถานประกอบการในการปรับปรุง ให้ตรงตามมาตรฐานภายใน 7 วัน และต้องปิดให้บริการเพื่อความปลอดภัย รวมถึงรายงานความคืบหน้ากับ กทม.ทราบ

ด้าน น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม.กวดขันมาตรฐานความปลอดภัยในสถานประกอบการอย่างเข้มงวดตามนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. และภายหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย สถานประกอบการกลับมาเปิดมากขึ้น นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา จึงต้องตรวจสอบสถานประกอบการตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และลักษณะการใช้พื้นที่ โดยสถานประกอบการทั้ง 83 แห่ง ไม่ตรงตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น ซึ่งมีช่วงเวลาที่กำหนดให้เจ้าของต้องปรับปรุง บางรายตักเตือนด้วยวาจา เพราะเป็นเรื่องที่ปรับปรุงได้โดยเร็ว แต่บางรายที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้บริการ จำเป็นต้องสั่งปิด หากไม่แก้ไขจะไม่สามารถเปิดให้บริการได้

สำหรับรอบการตรวจ โดยปกติศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) จะดำเนินการตรวจสถานประกอบการอยู่แล้ว แต่มุ่งเน้นไปที่การตรวจโรค แหล่งแพร่เชื่อหรือคลัสเตอร์ แต่เมื่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. มอบหมายให้ตรวจมาตรฐานความปลอดภัยด้วย สำนักเทศกิจ และสำนักงานเขตต้องรายงานเกี่ยวกับสถานประกอบการที่ต้องสงสัยว่าไม่ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโควิด-19 และการประกอบกิจการที่ไม่ตรงกับใบอนุญาต ทุกสัปดาห์

นอกจากนี้ สำนักงานเขตมีแผนการตรวจมาตรฐานความปลอดภัย ร่วมกับสำนักการโยธา ที่จะตรวจเรื่องโครงสร้างการใช้พื้นที่ และสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่จะต้องตรวจวัสดุ ความเสี่ยง สายไฟ หม้อแปลง และระบบไฟ

“เราพยายามจะตรวจสถานประกอบการให้ครบทุกที่ที่มีข้อสงสัย และร่วมมือกับตำรวจ และหน่วยงานอื่นที่เป็นกองตรวจพิเศษเพื่อให้รอบคอบและรัดกุมขึ้น” น.ส.ทวิดา กล่าว

ทั้งนี้ ขอให้สถานประกอบการสื่อสารเรื่องประตูทางออก วัสดุดับเพลิงต่างๆ ไปยังประชาชนที่ใช้บริการได้เห็นอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในยามฉุกเฉิน

นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. ระบุว่า เราตรวจสถานประกอบการทุกสัปดาห์ พยายามตรวจให้ครบ 100% นอกจากตรวจมาตรการป้องกันโควิด-19 แล้ว เราได้เพิ่มการตรวจสอบด้านความปลอดภัยของอาคารสถานประกอบการด้วย สำหรับสถานประกอบการที่ไม่ตรงตามมาตรฐาน ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องระบบตรวจจับควันไฟ สปริงเกลอร์ดับไฟ ถังดับเพลิงมีไม่ครบตามจำนวนที่กำหนด ประตูทางหนีไฟที่ไม่ทนไฟ แสงสว่างระหว่างเดินหนีไฟ ไฟสำรอง ซึ่ง กทม.ลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบการทั้งกลางวัน และกลางคืนที่เปิดประกอบกิจการ พร้อมทั้งกำชับห้ามเปิดเกินเวลาที่กำหนด

อย่างไรก็ตาม ต้องเน้นย้ำกับผู้ประกอบการเกี่ยวกับกฎกระทรวงข้อกำหนดประเภทและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้ เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ พ.ศ. 2555

ส่วนกรณีที่พบว่า เขตจตุจักร มีสถานประกอบการที่ไม่ได้มาตรฐาน 38 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นร้านที่มีการแสดงดนตรีแล้วไม่เป็นไปตามมาตรฐานประมาณ 5 แห่ง ได้สั่งให้ยกเลิกการแสดงดนตรีแล้ว ส่วนที่เหลือจะเร่งตรวจสอบต่อไป ทั้งนี้สถานประกอบการที่มีการแสดงดนตรี หากดำเนินการไม่ถูกต้องจะให้ยกเลิกทันที เนื่องจากมีลักษณะคล้ายสถานบริการ.