ถึงแม้ล่าสุด “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะออกมาประกาศชัดผ่านโทรโข่งรัฐบาล โดยยืนยันว่าไม่มีการยุบสภา และจะเดินหน้าทำงานให้กับประชาชนอย่างเต็มที่ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ ทั้งนี้ก็เพื่อตอบโต้กระแสข่าวลือข่าวลวงเตรียมยุบสภาก่อน 23 ส.ค. พร้อมกันนั้นยังเป็นการส่งสัญญาณ “พร้อมสู้” ปมร้อนวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีหรือไม่ เริ่มมีหลายฝ่ายออกมาส่งเสียงไล่กันดังระงม!

ไล่ตั้งแต่ คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ 51 คน จาก 15 มหาวิทยาลัย ที่ออกมาเคลื่อนไหวโดยส่งจดหมายเปิดผนึกถึงศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องข้อกฎหมายในเรื่องการดำรงตำแหน่งไม่เกิน 8 ปีของนายกฯ โดยชี้ว่า “บิ๊กตู่” ไม่สามารถเป็นนายกฯ หลังวันที่ 24 ส.ค.นี้ได้ พร้อมเรียกร้องให้ตุลาการฯ ตีความยึดตามตัวบทกฎหมาย และเป็นอิสระจากอำนาจทางการเมือง เช่นเดียวกับ ชมรมแพทย์ชนบท ที่ร่อนแถลงการณ์ “8 ปีแล้ว พอเถอะนะ” โดยมีเนื้อหาเรียกร้องให้ “บิ๊กตู่” ก้าวลงจากตำแหน่งนายกฯ อย่างมีศักดิ์ศรีตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 พร้อมกันนั้นยังประกาศเชิญชวนให้ทุกองค์กรในสังคมไทย ร่วมกันแสดงออก สร้างกระแส “8 ปี พอแล้ว” กันให้กระหึ่ม

ขณะที่คนการเมืองมากหน้าหลายตา ต่างก็ออกมาเคลื่อนไหวไม่แพ้กัน ทั้งบรรดาอดีตแกนนำมวลชนชื่อดัง ทั้ง จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) “ทนายนกเขา” นิติธร ล้ำเหลือ แกนนำกลุ่มประชาชนคนไทย ที่จับมือกันเคลือนไหวในนาม คณะหลอมรวมประชาชน ที่มีการนัดชุมนุมแสดงพลังในวันที่ 21-24 ส.ค. ที่ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการ กทม. เพื่อเรียกร้องให้ “บิ๊กตู่” พ้นจากตำแหน่งนายกฯ

รวมทั้งการเคลื่อนไหวของพรรคฝ่ายค้าน ที่เรียกได้ว่าเรียงหน้ากันออกมารุมถล่มกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคเสรีรวมไทย ตลอดจนการล่ารายชื่อ ส.ส. ยื่นหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้พิจารณาวาระการดำรงตำแหน่งของ “บิ๊กตู่” สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่

ทั้งหมดทั้งมวลต้องขึ้นอยู่การการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ต้องรอลุ้นกันว่าจะมีคำวินิจฉัยชี้จาดก่อนวันที่ 23 ส.ค. หรือไม่ และจะมีคำสั่งให้ “บิ๊กตู่” หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยถึงที่สุดหรือไม่ เพราะถ้างานนี้ “บิ๊กตู่” ไม่ยุบสภาหนีปมร้อนก่อนวันที่ 23 ส.ค. และยังดำรงตำแหน่งนายกฯ หลังจากนั้นต่อไป โดยไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็อาจจะเข้าข่ายเป็น “นายกฯ เถื่อน” ซึ่งเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงต่อการกระทำที่ขัดกับกฎหมาย…ดังนั้นคงต้องรอดูว่าปลายทางเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร

โดยแนวทางในการวินิจฉัยเรื่องการนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ “บิ๊กตู่” ประกอบด้วย 3 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 ครบวาระ 8 ปีในวันที่ 23 ส.ค. 2565 โดยอาศัยการตีความตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 และมาตรา 264 ว่าการเป็นนายกฯ ของ “บิ๊กตู่” นับตั้งแต่วันที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2557 ซึ่งแนวทางนี้ถือเป็นแนวทางที่ถูกพูดถึงมากที่สุด และเป็นสิ่งที่พรรคฝ่ายค้าน ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และประชาชนหลายภาคส่วนเห็นตรงกัน ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญตีความในแนวทางนี้ จะถือได้ว่า “บิ๊กตู่” ครบวาระ 8 ปีแล้ว และต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ โดยปริยาย

แนวทางที่ 2 ครบวาระ 8 ปีในวันที่ 5 เม.ย. 2568 โดยอาศัยการตีความตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 เท่านั้น และมองว่าไม่เกี่ยวกับมาตรา 264 ที่เป็นเรื่องการให้ ครม.ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 57 ทำหน้าที่ต่อไปเป็น ครม.ตามรัฐธรรมนูญ ปี 60 ไม่เกี่ยวกับการนับวาระนายกฯ ดังนั้นจึงต้องเริ่มนับวาระตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ในวันที่ 6 เม.ย.2560 ซึ่งเป็นแนวทางที่ฝ่ายสนับสนุน “บิ๊กตู่” นำมาอธิบายกันเป็นส่วนใหญ่ หากศาลรัฐธรรมนูญตีความในแนวทางนี้ “บิ๊กตู่” จะสามารถเป็นนายกฯ ได้จนครบวาระรัฐบาลนี้ และเป็นนายกฯ ต่อได้อีกประมาณ 2 ปี หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า

แนวทางที่ 3 ครบวาระ 8 ปีในวันที่ 8 มิ.ย. 2570 โดยแนวทางนี้อาศัยการตีความในลักษณะคล้ายกับ แนวทางที่ 2 เพียงแต่มองว่าระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ “บิ๊กตู่” ต้องเริ่มนับแต่วันที่ได้รับการประกาศแต่งตั้งเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 คือวันที่ 9 มิ.ย.2562 เป็นต้นไป หากศาลรัฐธรรมนูญตีความในแนวทางนี้ “บิ๊กตู่” จะสามารถเป็นนายกฯ ได้จนครบวาระรัฐบาลนี้ และเป็นนายกฯ ต่อได้อีก 1 สมัยเต็มๆ หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า

ทั้งนี้ไม่ว่าผลการตีความวาระ 8 ปี “บิ๊กตู่” จะออกมาในทิศทางใด ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อเกมการเมืองในช่วงหลังจากนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามแนวทางที่ 1 ผลที่ได้คือ รัฐมนตรีทุกคนจะต้องพ้นจากตำแหน่งตาม “บิ๊กตู่” ไปด้วย แต่ยังอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า ครม.ใหม่จะเข้ารับหน้าที่ โดย “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ อาจจะทำหน้าที่รักษาการนายกฯ จากนั้นจะต้องเข้าสู่กระบวนการสรรหานายกฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 และ 159

งานนี้อาจจะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลอออกอาการระส่ำระสายพอสมควร ในการหานายกฯ คนใหม่ มาแทน “บิ๊กตู่” โดยในส่วนพรรคร่วมรัฐบาลเหลือบัญชีรายชื่อนายกฯ ที่พรรคการเมืองเสนอ 2 คน คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หรืออาจจะใช้อภินิหารโดยอาศัยเสียง ส.ว.มาร่วมกันใช้มาตรา 272 เพื่อโหวตนายกฯ คนนอก แต่ในชั้นนี้อาจจะมีการกดดันให้รัฐบาลรักษาการยุบสภา เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ได้เช่นกัน

แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามแนวทางที่ 2 และ 3 ผลที่ได้คือ “บิ๊กตู่” ยังคงเป็นนายกฯ ต่อไป เพื่อนำพา “รัฐบาลเรือเหล็ก” ไปถึงฝั่งฝันในการเป็นประธานการประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจ (เอเปค) ช่วงปลายปี ระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย.2565 และอยู่ในตำแหน่งต่ออยู่จนเกือบครบวาระแล้วจึงยุบสภาในช่วงต้นปี 2566

ทั้งนี้ทั้งนั้นหากดูแนวโน้มวาระ 8 ปี “บิ๊กตู่” จากอากัปกิริยาของฟากฝั่ง “พี่น้อง 3 ป.” ก็ยังคงเห็นได้ชัดถึง “สัญญาณอยู่ยาว” แม้จะมีความง่อนแง่นในความสัมพันธ์ ท่ามกลางวาระร้อนกฎหมายลูก ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ที่ต้องย้อนกลับไปใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100 ตามร่างที่ ครม.เสนอ หลังจากมีการเล่นเกมล่มสภาคว่ำกฎหมายลูกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่กระบวนการกฎหมายลูกก็ยังไม่สะเด็ดน้ำ เพราะยังคงอยู่ในขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 โดยรัฐสภาส่งร่างกฎหมายให้ กกต. พิจารณาว่ามีข้อความใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ หรือไม่

แม้สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นไปตามกระบวนการรัฐสภา แต่ก็ทำเอาหลายคนไม่แฮปปี้เป็นอย่างมาก จนทำให้เกิดรอยร้าวคนกันเอง ระหว่าง พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ และ ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพรรคพลังประชารัฐ หลังจากเหตุการณ์ล่ม สภาพลิกเกมกลับมาใช้สูตรหาร 100 เลยเถิดไปจนถึงขั้นขู่ฟ้องกันไปมา

ขณะที่บรรยากาศการจัดทัพเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่างๆ เริ่มมีให้เห็นกันอย่างคึกคัก ทั้งพรรคเพื่อไทย ได้ฤกษ์เปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.ภาคอีสาน 17 จังหวัด รวม 93 คน โดยตั้งเป้ากวาดเก้าอี้ ส.ส.อีสาน ให้ได้มากกว่า 100 ที่นั่ง และหวังได้ ส.ส.ภาพรวมทั้งประเทศมากกว่า 250 ที่นั่ง ขณะที่พรรคก้าวไกล มีการเปิดแคมเปญ “ก้าวไกล NEXT” ยุทธศาสตร์เลือกตั้งครั้งต่อไป เปิดพื้นที่ให้ประชาชนร่วมระดมความคิดกำหนดทิศทางพรรค โดยตั้งเป้ากวาด ส.ส.เขตกว่า 100 ที่นั่ง

ส่วนฟากฝั่งรัฐบาล ที่น่าจับตามองที่สุดหนีไม่พ้น พรรคภูมิใจไทย ที่มี ส.ส.จากต่างพรรค ไหลเข้าพรรคอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เดินเกมรุกเข้าตีพื้นที่ภาคใต้อย่างหนักหน่วง ล่าสุดประกาศกวาด 8 ที่นั่ง ส.ส.กระบี่-พังงา-ภูเก็ต จนกลายเป็นการประกาศสงครามกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่เพิ่งจะเปิดตัว 30 ว่าที่ผู้สมัครเลือดใหม่ ตั้งเป้าทวงปักษ์ใต้คืน พร้อมตั้งเป้ากวาด ส.ส.ใต้ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า 35-40 ที่นั่ง

ขณะเดียวกัน บรรดาพรรคน้องใหม่หลายพรรค ต่างก็เริ่มเคลื่อนไหวเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้าให้ได้เห็นเช่นกัน แต่ด้วยโจทย์การเลือกตั้งภายใต้กติกา บัตร 2 ใบ และสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100 ก็เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคที่ได้รับผลกระทบก็คือพรรคน้องใหม่ และพรรคขนาดเล็ก ซึ่งงานนี้ก็ต้องมารอลุ้นว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ถูกมองว่าจะเป็นพรรคที่เสนอชื่อ “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้งครั้งหน้านั้น จะได้ ส.ส.ถึง 25 เสียง พอที่จะมีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ เพื่อให้ไปถึงฝั่งฝันได้หรือไม่

สุดท้ายแล้วคงบอกได้แค่ว่า…การเมืองในห้วงเวลาหลังจากนี้ ต่างเต็มไปด้วยเรื่องที่ต้องลุ้นระทึก!