เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในคดีที่ ตัวแทน นิสิตและนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัย นายกองค์การบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) เป็นจำเลย ขอให้ศาลแพ่งมีคำสั่งเพิกถอน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ม.9, ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 47 และ ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ฉบับที่ 15 หลังจากเมื่อวานนี้ศาลได้ทำการไต่สวนฉุกเฉิน ฝ่ายโจทก์มี น.ส.เจนิสษา แสงอรุณ นายกองค์การบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับพวกรวม 2 ปาก เข้าเบิกความ

โดยพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า โจทก์ทั้งเจ็ดยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 47) ลงวันที่ 27 ก.ค. 2565 ข้อ 3 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่องห้ามชุมนุม การทำกิจกรรม

การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

(ฉบับที่ 15) ลงวันที่ 1 ส.ค. 2565 ข้อ 5 และวรรคท้าย

ศาลแพ่งเห็นว่า แม้ว่าข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 47) ลงวันที่ 27 ก.ค. 2565 ข้อ 3 วรรคท้าย ให้อำนาจศูนย์ปฏิบัติการณ์แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) กำหนดมาตรการขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อคุ้มครองประชาชน รวมทั้งการอำนวยความสะดวกและดูแลการชุมนุม แต่การออกมาตรการดังกล่าวย่อมต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ระบุไว้ในข้อกำหนดข้อที่ 3 กล่าวคือ ต้องออกมาตรการกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรค ทั้งนี้เมื่อพิจารณาประกาศของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่องการห้ามชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ฉบับดังกล่าว ซึ่งเป็นมาตรการที่ออกโดยจำเลยที่ 2 ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง โดยอาศัยนัยตามข้อกำหนดดังกล่าวแล้ว ไม่ปรากฏว่าเนื้อความในข้อกำหนดส่วนใดว่าผู้ที่จะชุมนุมหรือจัดให้มีการชุมนุมจะต้องดำเนินการตามมาตรการของประกาศดังกล่าวอย่างไร และไม่ปรากฏว่ามีการกำหนดมาตรการใดอย่างไรที่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรค

ตัวแทนนศ.ฟ้อง ‘บิ๊กตู่-ผบ.ทสส.’ ออกกฎหมายกระทบสิทธิปชช

ดังนั้นประกาศฉบับดังกล่าวจึงถือว่ายังไม่ได้ออกตามความในข้อ 3 วรรคท้าย ของข้อกำหนดที่จำเลยที่ 1 ประกาศ อันน่าจะเป็นผลให้ประกาศของจำเลยที่ 2 ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของข้อกำหนดดังกล่าวที่จะนำมาบังคับใช้กับผู้ชุมนุม ซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งเจ็ดในการจัดการชุมนุมภายใต้สิทธิที่มีอยู่โดยชอบตามรัฐธรรมนูญได้ แต่ตามทางไต่สวนของโจทก์ทั้งเจ็ด ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งเจ็ดได้ดำเนินการใด ๆ ตามข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวจนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ประกอบกับเนื้อความในข้อ 3 วรรคท้าย ของข้อกำหนดดังกล่าวเป็นเพียงการวางเงื่อนไขในการออกมาตรการเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ยังไม่ออกมาตรการย่อมไม่ถือว่าโจทก์ทั้งเจ็ดจะได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการการทำของจำเลยทั้งสอง ในชั้นนี้จึงยังไม่มีเหตุจำเป็นและสมควรในการที่จะนำวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้เพื่อระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดและประกาศดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 (2)มาตรา 255 (2) (ข) ประกอบมาตรา 267 วรรคหนึ่ง ยกคำร้อง