เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ว่า สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเผยแพร่เอกสารข่าวระบุว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา มอบหมายคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา (ส.ว.) สอบข้อเท็จจริงกรณีการกล่าวหา ส.ว.กระทำการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม กรณีเหตุการณ์ ส.ต.ท.หญิง บังคับใช้แรงงานและทำร้ายร่างกายอดีตทหารหญิงยศสิบตรี และเมื่อวันที่ 22 ส.ค.65 นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อประธานวุฒิสภา ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี ส.ว.มีส่วนรู้เห็นหรือสนับสนุน ส.ต.ท.หญิงที่กล่าวอ้างเป็นภรรยาน้อย กระทำทารุณทหารหญิงหรือไม่ มีการใช้อำนาจหน้าที่ ส.ว.ฝากภรรยาน้อยเป็นข้าราชการตำรวจจริงหรือไม่ ฝากบุคคลเข้ารับราชการทหารจริงหรือไม่ ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องให้คณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา พิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงทุกประเด็นดังกล่าวให้เป็นไปตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 หากผลการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา เป็นประการใดจะแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไป

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว. ในฐานะคณะกรรมการจริยธรรม กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาตรวจสอบคำร้องนายวัชระ จากนั้นจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการจริยธรรม ส.ว.ตรวจสอบ ใช้เวลาไม่เกิน 60 วัน คณะกรรมการจริยธรรมจะเร่งสอบให้เร็วที่สุดว่า มี ส.ว.เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจฝากบุคคลเป็นทหาร-ตำรวจ ตามที่เป็นข่าวหรือไม่ เราไม่ปกป้องกัน เพราะเป็นเรื่องมีพฤติกรรมความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้อง

เบื้องต้นต้องตรวจสอบว่า ส.ต.ท.หญิงคนดังกล่าวมีตำแหน่งเป็นอะไรบ้างในวุฒิสภา เช่น ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการประจำตัว ส.ว. หรือมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ในคณะกรรมาธิการชุดใดของวุฒิสภา ถ้าพบว่ามีตำแหน่งเหล่านี้จริง จะต้องสาวต่อไปว่าเป็นตำแหน่งประจำตัวใคร หรือใครเสนอแต่งตั้งเข้ามา ต้องเรียกมาให้ข้อมูลมีการทำผิดตามที่กล่าวหาหรือไม่ ถ้าพบ ส.ว.คนใดเข้าไปเกี่ยวข้องกับการวิ่งเต้นโยกย้ายโดยไม่ถูกต้องจริง แม้บทลงโทษในส่วนของคณะกรรมการจริยธรรมจะทำอะไรไม่ได้มาก ทำได้แค่ตักเตือนและประณาม ไม่มีอำนาจถอดถอน ส.ว.ที่ทำผิดออกจากตำแหน่ง แต่คณะกรรมการจริยธรรมจะส่งเรื่องต่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เอาผิดต่อไป

/////////////////