จากกรณีทีมงานเดลินิวส์เปิดโปงพิรุธและเงื่อนงำในการก่อสร้างสถานที่ราชการต่างๆ เริ่มต้นจากอควาเรียมหอยสังข์ จ.สงขลา ที่ผลาญงบประมาณไป 1,400 ล้าน และปล่อยทิ้งร้างมานานกว่า 14 ปี จนภาคประชาชนออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบ เร่งรัดก่อสร้างให้แล้วเสร็จเพื่อประโยชน์ในการศึกษา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เคยสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงตั้งแต่ พ.ศ.2561 พบเรื่องไปคาอยู่ที่ ป.ป.ช.ส่วนกลาง ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการตามที่เคยเสนอไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ทีมข่าวเดลินิวส์ยังเดินหน้าเกาะติดต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 27 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดข้อกังขาในส่วนของภาคประชาชนอีกเรื่องหนึ่งที่น่าจับตาไม่แพ้กันก็คือ การก่อสร้างตึกอาคารผู้ป่วยนอก รพ.สุราษฎร์ธานี ที่ใช้งบประมาณหลายร้อยล้านบาท ดำเนินการมานานถึง 7 ปี ยังไม่แล้วเสร็จจนถึงปัจจุบัน

โครงการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอก (ระดับตติยภูมิ) รพ.สุราษฎร์ธานี ต.มะขามเตี้ย อ.เมืองสุราษฎร์ธานี ตามข้อมูลรายละเอียดโครงการนี้ จะเป็นการก่อสร้างเป็น คสล. 9 ชั้น แบบโครงสร้างต้านแผ่นดินไหว พื้นที่ใช้สอย 31,420 ตารางเมตรจำนวน 1 หลัง วงเงินงบประมาณปี 2559 จำนวน 607,309,000 บาท จัดหาผู้รับจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยประกาศเชิญชวนเสนอราคาในวันที่ 9 ธ.ค. 2558 มีบริษัทเอกชนจำนวน 7 ราย ซื้อเอกสารประกวดราคา แต่ยื่นเอกสารเพียง 3 ราย และมีบริษัทหนึ่งชนะประมูลไป เสนอราคาต่ำสุดที่ 524,111,000 บาท โดยลงนามในสัญญาก่อสร้างเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2559 วงเงิน 523 ล้านบาท กำหนดสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 6 มี.ค. 2562 โดยแบ่งสัญญาออกเป็น 34 งวด ปัจจุบันการก่อสร้างหยุดชะงักที่งวดสัญญาที่17 ส่งงวดงานล่าช้ากว่ากำหนดถึง 3 ปี และต่อสัญญา 8 ครั้ง

ด้าน นพ.จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ปัญหาโครงการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีล่าช้า เกิดขึ้นขณะกำลังมีการก่อสร้างงวดที่ 17 โดยมีความคืบหน้าประมาณร้อยละ 49.5 แล้วเสร็จในโครงสร้างของตัวอาคาร โดยผู้รับจ้างเบิกเงินงวดที่เป็นไปตามระเบียบและข้อสัญญาแล้ว 17 งวด เป็นจำนวน 252 ล้านบาท ซึ่งทางผู้รับจ้างได้มีการยื่นขอผ่อนปรนมาแล้วถึง 8 ครั้ง ซึ่งคณะกรรมการตรวจการจ้างทั้ง 3 ฝ่าย ต่างมีมติเห็นด้วยกับการชี้แจงเหตุผลและที่ผ่านมาผู้รับจ้างได้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้ามาโดยตลอด

นพ.จิรชาติ กล่าวด้วยว่า เมื่อผมมารับตำแหน่ง สาธารณสุขจังหวัด เมื่อปลายปี 2564 และพบว่าผู้รับจ้างได้ยื่นขอผ่อนปรนอีกครั้งเป็นครั้งที่ 9 เมื่อต้นปี 2565 คณะกรรมการตรวจรับงานก็มีมติไม่เห็นด้วย ซึ่งรวมทั้งตนด้วย เนื่องจากเห็นว่าผู้รับจ้างไม่สามารถโต้แย้งทางเอกสารได้และอ้างปัญหาการเงินของผู้รับจ้าง ยอมรับว่าโครงการนี้ ผ่านมา 7 ปี แต่ไม่มีความคืบหน้า เป็นการสูญเสียโอกาสในการเข้ารับบริการของผู้ป่วย ที่สำคัญ รพ.สุราษฎร์ธานี เป็น รพ.ศูนย์ภาคใต้ตอนบน มีหน้าที่บริการด้านการแพทย์ส่งต่อจากทุก รพ.ในภาคใต้ตอนบน ล่าสุดตนในฐานะนายแพทย์สาธารณสุข ได้เสนอเรื่องไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อยกเลิกสัญญากับผู้รับจ้างแล้ว

ขณะที่ นายสมบูรณ์ หมื่นระย้า ประธานชมรม Strong สุราษฎร์ธานีเครือข่ายภาคประชาสังคม องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของโครงการก่อสร้างที่ใช้งบประมาณกลางวงเงินสูง หน่วยงานเจ้าของโครงการไม่มีอำนาจตัดสินใจ แม้แต่คัดเลือกผู้รับเหมา เนื่องจากโครงการใหญ่ๆ ที่ใช้งบประมาณจำนวนมากผู้รับเหมามักจะถูกล็อกสเปกมาแล้วตั้งแต่ส่วนกลาง หน่วยงานเจ้าของโครงการทำได้เพียงสอดส่องดูแลและควบคุมให้เป็นไปตามข้อกำหนดเท่านั้น แม้จะพบความไม่ชอบมาพากลก็ไม่มีสิทธิเป็นปากเป็นเสียงให้ เสี่ยงที่จะถูกร้องเรียน อย่างกรณีโครงการาอาคารผู้ป่วยนอกของ รพ.สุราษฎร์ธานี งบประมาณกว่า 500 ล้านบาท และการก่อสร้างไม่เป็นไปตามสัญญา ทำให้ชาว จ.สุราษฎร์ธานี และจังหวัดใกล้เคียงต้องสูญเสียโอกาสด้านการรักษาพยาบาลไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งๆ ที่โรงพยาบาลแห่งนี้ศักยภาพทางการแพทย์พร้อม อุปกรณ์เครื่องมือก็ทันสมัย เชื่อว่าภายหลังบริษัทผู้รับเหมาถูกขึ้นบัญชีเป็นผู้ทิ้งงานแต่ก็ยังสามารถรับเหมางานก่อสร้างราชการได้อีกในอนาคต ท่ามกลางการเสียประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติไม่ต่ำกว่า 3 ปี.