พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) รับผิดชอบงานจราจร เปิดเผยถึงความคืบหน้า เรื่องการขอปรับปรุงแก้ไขกฎหมายพรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ว่าจากที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้พิจารณาขอแก้ไขกฎหมายจราจรให้มีประสิทธิภาพ ในการบังคับใช้กับผู้กระทำความผิดให้มากยิ่งขึ้นนั้น ที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอให้กฤษฎีกาตีความใน 8-9 ประเด็น แต่ในประเด็นเรื่องการขอให้กรมการขนส่งทางบก อายัดการต่อภาษีประจำปีหากผู้เสียภาษีโดนใบสั่งแล้วไม่มาชำระค่าปรับ ซึ่งทางกรมการขนส่งฯเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญไม่สามารถทำได้ และในส่วนของคณะกฤษฎีกาก็ไม่ผ่านความเห็นชอบ ให้ทำให้ประเด็นนี้มีอันตกไป แต่ทั้งนี้กฤษฎีกาได้ให้ข้อแนะนำว่าการขอแก้ กฎหมาย พรบ.จราจรฯ ให้ทำในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตำรวจเท่านั้น

ดังนั้นทางตำรวจจึงได้กลับมาดูในรายละเอียดอีกครั้งและเตรียมเสนอใหม่อีกรอบ ในเรื่องการขอเพิ่มอัตราโทษปรับ ในส่วนที่ 1 หากผู้กระทำผิดได้รับใบสั่งแล้ว ไม่มาชำระค่าปรับจะให้มีโทษปรับตั้งแต่ 400-1,000 บาท ซึ่งจากเดิมปรับไม่เกิน 1,000บาท และปรับขั้นต่ำ 200 บาท ส่วนที่ 2 เมื่อครบ 60 วัน ยังไม่มาชำระค่าปรับ จะเพิ่มโทษเป็นปรับตั้งแต่ 1,000-5,000 บาท และส่วนที่ 3 หากครบ 180 วัน ยังไม่มาชำระค่าปรับจะจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งในข้อหานี้สามารถนำขึ้นศาลแขวง เพื่อให้ศาลพิจารณาโทษจำคุกได้

พล.ต.ต.อดุลย์ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ทางตำรวจ จะไม่ยื่นเสนอขอแก้ไขในเรื่องอายัดภาษี ไม่ต่อทะเบียนรถ หากไม่มาชำระค่าปรับอีกแล้ว เนื่องจากข้อเสนอดังกล่าวถูกตีตกถึง 2 รอบ แต่ในส่วนการขอเพิ่มอัตราโทษปรับขณะนี้ในขั้นตอนของทาง บช.น. ได้มีการลงนามในข้อเสนอแล้ว เพื่อเสนอต่อให้สำนักกฎหมายและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาแก้ไขและนำเสนอต่อกฤษฎีอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าน่าจะผ่านความเห็นชอบได้และผ่านเข้าสู่กระบวนการให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาต่อไป ส่วนในการยื่นเสนอชำระค่าปรับ ผ่านเคาร์เตอร์เซอร์วิส ที่ทางตำรวจได้ยื่นเสนอให้กฤษฎีกาพิจารณานั้น ขณะนี้ได้รับความเห็นชอบจากทางกฤษฎีกาแล้ว ซึ่งขั้นตอนต่อไปก็ต้องรอให้ สนช. มีความเห็นชอบอีกเช่นกัน ซึ่งคาดว่าภายในเร็วๆนี้ ซึ่งประชาชนจะได้รับความสะดวกขึ้นในการชำระค่าปรับ.