รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่า ขณะนี้ รฟท. ได้เริ่มทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กับชาวบ้านที่ถูกเวนคืนในโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ สายเหนือ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 7.29 หมื่นล้านบาทแล้ว คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 พันล้านบาท หรือประมาณ 70% ของเป้าหมายในปีงบประมาณ 65 ที่ต้องเวนคืนให้ได้มูลค่าประมาณ 1,620 ล้านบาท โดยปัจจุบันได้จ่ายเงินค่าทดแทนให้ชาวบ้านบางส่วนแล้ว คาดว่าใน 2-3 สัปดาห์ หรือภายในเดือน ก.ย.65 รฟท. จะทำสัญญาฯ ได้ครบทั้งหมดตามแผน

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า เป็นเรื่องปกติที่งานเวนคืน จะมีชาวบ้านที่พอใจ และไม่พอใจกับราคาเวนคืน ซึ่งในส่วนที่ไม่พอใจ ทาง รฟท. พยายามชี้แจงทำความเข้าใจมาโดยตลอด หากชาวบ้านยังรู้สึกไม่พอใจ สามารถเข้าสู่กระบวนการยื่นอุทธรณ์ได้ ทั้งนี้โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีพื้นที่ใน จ.แพร่, ลำปาง, พะเยา และเชียงราย ที่จะถูกเวนคืน รวม 8,665 แปลง 12,076 ไร่ แบ่งเป็น ที่ดินมีเอกสารสิทธิ 7,704 แปลง ที่ดิน ส.ป.ก. 783 แปลง พื้นที่ป่า 13 แปลง อื่นๆ 465 แปลง และสิ่งปลูกสร้าง 5,053 รายการ ใช้งบประมาณเวนคืนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท 

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ในปีงบประมาณ 66 รฟท. มีแผนทำสัญญาฯ และจ่ายเงินค่าทดแทนให้ชาวบ้าน รวมมูลค่าประมาณ 5 พันล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 4 พันล้านบาท จะดำเนินการทำสัญญา และจ่ายเงินค่าทดแทนให้แล้วเสร็จในปี 67 อย่างไรก็ตาม สำหรับในส่วนของพื้นที่ที่มีการเวนคืนเรียบร้อยแล้ว ทาง รฟท. ได้ดำเนินการส่งมอบพื้นที่ให้กับผู้รับจ้างได้เริ่มงานก่อสร้างทันที เบื้องต้นสามารถส่งมอบพื้นที่สำคัญ โดยเฉพาะบริเวณสถานีให้ผู้รับจ้างได้ครบทั้ง 3 สัญญา ซึ่งผู้รับจ้างได้เข้าพื้นที่ และเริ่มงานถมดิน รวมถึงสร้างสำนักงานโครงการแล้ว ถือว่าเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำหรับสัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 104 กม. มีกลุ่มกิจการร่วมค้า ไอทีดี-เนาวรัตน์ เป็นผู้รับจ้าง, สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 135 กม. มีกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-ดีซี 2 เป็นผู้รับจ้าง และสัญญาที่ 3 ช่วง ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 84 กม. มีกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-ดีซี 3 เป็นผู้รับจ้าง ทั้งนี้ในส่วนของพื้นที่การก่อสร้างที่เหลือ จะทยอยดำเนินการเวนคืนคู่ขนานไปกับการก่อสร้างต่อไป โดยเส้นทาง สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ใช้เวลาก่อสร้าง 6 ปี มีแผนเปิดให้บริการในปี 71

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ สายตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงินก่อสร้าง 6.68 หมื่นล้านบาท คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนและได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2562 อยู่ระหว่างพิจารณากำหนดราคาเบื้องต้น โดยเส้นทางนี้มีพื้นที่ใน จ.ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร และนครพนม ที่จะถูกเวนคืน รวม 9,012 แปลง 18,462 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง 2,368 หลัง และไม้ยืนต้น 6,711 แปลง ใช้งบประมาณเวนคืนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่แปลงแรกให้ผู้รับจ้างได้ประมาณสิ้นปี 65 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี มีแผนเปิดให้บริการปี 69.