มื่อวันที่ 4 เม.ย. 67 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร  เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ต่อเนื่องเป็นวันที่2

นายคริษฐ์ ปานเนียม สส.ตาก พรรคก้าวไกล อภิปรายตั้งข้อสังเกตถึงการส่งเสริม “โค” เพื่อใครเหตุใดประชาชนไม่ได้ประโยชน์  โดยอ้างถึงโครงการที่เกี่ยวกับโคของไทย ตั้งแต่โคอีสานเขียว โคเอื้ออาทรหรือโคล้านตัว โคเนื้อล้านครอบครัว การกู้ยืมกองทุนหมู่บ้านเพื่อเลี้ยงโค และโคบาลชายแดนใต้ผิดสเปกที่ส่อพิรุธหลายประการ จนปัจจุบันโคแสนล้านที่มีการให้สินเชื่อ 5,000 ล้านบาทผ่านกองทุนหมู่บ้าน ภายใต้การดำเนินการของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้ทำโครงการในช่วง 3 รัฐบาลที่ผ่านมา  โดยโครงการแสนล้านที่ปล่อยให้เกษตรกรมากู้ เงินกองทุนหมู่บ้านรายละ 50,000 บาท ซื้อวัวไปเลี้ยง ได้ลูกและนำลูกวัวไปขายและให้ผ่อนชำระ จึงมีข้อสงสัยว่าเหตุใดรัฐบาลไม่ให้ ธ.ก.ส. เป็นผู้ดำเนินการปล่อยกู้ ที่มีระบบการดำเนินการที่รัดกุมกว่าขณะที่กองทุนหมู่บ้านกว่า 23,000 กองทุน ที่ยังไม่สามารถส่งงบการเงินได้ หากเกิดปัญหาอีกจะกลายเป็นการทำลายกองทุนหมู่บ้านหรือไม่

นายคริษฐ์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันนโยบายดังกล่าวซ้ำเติมกับกลุ่มเกษตรกรที่ซื้อวัวนำเข้ามาขุน ในห้วงมีโรควัวระบาด ซึ่งปกติมีการนำเข้าปีละ 100,000 ตัวแต่กรมปศุสัตว์มีการประกาศปิดด่านห้ามนำเข้าวัว และไม่ได้มีหาวิธีการเยียวยาเกษตรกร อีกทั้งห้ามมีการขนย้ายวัว แต่กระทรวงมหาดไทยอนุญาตให้สนามวัวชน ซึ่งก็มีการเคลื่อนย้ายวัว แต่ห้ามเกษตรกรที่จะเคลื่อนย้ายวัวเพื่อจะขายนำเงินมาเลี้ยงชีพ พร้อมเปิดเผยข้อมูล ว่ามีกลุ่มบุคคลมาติดต่อเกษตรกรเพื่อขอซื้อแท็กติดหูวัวเพื่อสวมวัวเถื่อน ในราคา 2,500-5,000 บาท เนื่องจากวัวของเกษตรกรไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ทำให้จำใจต้องขายแท็กและนำวัวไปเชือดที่โรงเถื่อน

นายคริษฐ์   กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการโคบาลชายแดนใต้นั้น เป็นวัวเถื่อนที่มาจาก หจก. แห่งหนึ่งใน จ.นครสวรรค์ พบว่าวัวทุกตัวชื่อ “บัวทอง” อายุ 2 ปี เพศเมียหนัก 162-163 กก. ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าเป็นวัวเถื่อนที่ขนมาจาก จ.ตากไปยังจ.นครสวรรค์ แต่กลับการขนผ่านด่านตรวจได้ 5 ด่าน ซึ่งตลอดเส้นทางการดำเนินการสอบการทุจริต จากงบประมาณดำเนินโครงการ 1,500 ล้านบาท

“เริ่มจากประกาศปิดด่าน ห้ามนำเข้าต่อมาประกาศห้ามเคลื่อนย้ายทำให้เกษตรกรไม่สามารถขายวัวได้เปิดช่องทางสู่การกดราคาต่อมามีกลุ่มไอ้โม่งไล่ซื้อเบอร์หูเพราะวัวไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ เกษตรกรจำใจขายเลี้ยงชีพ ต่อมาจัดโครงการหากินกับงบประมาณของประเทศ โดยการออกใบอนุญาตให้บริษัทเอกชนรายเดียว ขนวัวเข้าโครงการจับวัวที่มาติดเบอร์หูที่ได้มาจากชาวบ้านรู้กันกับด่านตรวจผ่านตลอดทุกเส้นทางจบที่ส่งวัวถึงเกษตรกรแบบไม่ตรงปก แล้วเอาเบอร์หูมาวนใหม่ทำแบบนี้วนไปโครงการนี้ 3เฟส” นายคริษฐ์ กล่าว

นายคริษฐ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่เกษตรกรต้องการคือมาตรการการที่ดีและวัคซีนป้องกันโรค และการซื้อขายวัวตามกลไกตลาดอย่างตรงไปตรงมา และแก้ปัญหาให้มีการนำเข้าส่งออกได้อย่างถูกต้อง มีโรงเชือดที่มาตรฐาน มีกลไกรักษาระดับราคา ไม่ใช่การส่งเสริมโคเข้าระบบจนล้นตลาดทำให้ราคาตกต่ำเป็นวงจรอุบาทว์อย่างที่ผ่านมา และหากรัฐบาลไม่แก้ไขจะกลายเป็นคิดเก่าทำวนด้วยวิธีการเดิมๆ วนด้วยนักการเมืองเดิมๆเพิ่มเติมคือการย้ายพรรคข้ามขั้วทิ้งปัญหาให้กับเกษตรกร.