หลายๆ คนคงจะเคยได้ยินเรื่องราวกันมาบ้าง ถึงความเสียสละอันยิ่งใหญ่เพื่อผืนป่าและสัตว์ป่า ของชายที่ชื่อว่า “สืบ นาคะเสถียร” อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นักวิชาการ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จนมีการกำหนดให้ทุกวันที่ 1 กันยายนของทุกปี คือวัน “สืบ นาคะเสถียร” เกิดขึ้น ซึ่งในวาระรำลึก 32 ปีของวันดังกล่าวในปี พ.ศ.2565 นั้น “เดลินิวส์” ขอพาทุกคนย้อนรอยไปถึงเรื่องราวดังกล่าวกัน

ภาพจาก : มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร

ประวัติสืบ นาคะเสถียร
“สืบ นาคะเสถียร” หรือนามเดิมคือ สืบยศ เป็นชาวอำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พุทธศักราช 2492 ที่ตำบลท่างาม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี บิดาชื่อ นายสลับ นาคะเสถียร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี มารดาชื่อ นางบุญเยี่ยม นาคะเสถียร มีพี่น้อง ทั้งหมด 3 คน โดยคุณสืบ เป็นบุตรชายคนโต มีน้องชาย และน้องสาวอีก 2 คน คือ คุณกอบกิจ นาคะเสถียร และคุณกัลยา รักษาสิริกุล โดยคุณสืบมีบุตรสาว 1 คน คือนางสาวชินรัตน์ นาคะเสถียร

ภาพจาก : มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร

การศึกษา
เมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 สืบได้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา จนกระทั่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จึงเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนจะเข้าศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาวิชาวนวัฒนวิทยา ที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2518

ภาพจาก : มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร

เมื่อเรียนจบ “สืบ นาคะเสถียร” สามารถสอบเข้าทำงานที่กรมป่าไม้ได้ แต่เขาเลือกทำงานที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่า โดยไปประจำการที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาเขียว-เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 สืบได้รับทุนการศึกษาระดับปริญญาโทอีกครั้ง ในสาขาอนุรักษวิทยา ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ จาก British Council โดยสืบสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2524

ภาพจาก : มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร

เส้นทางนักอนุรักษ์
“สืบ นาคะเสถียร” ได้เข้าร่วมต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน จังหวัดกาญจนบุรี ในปี พ.ศ. 2530 ซึ่งสืบชี้ให้เห็นถึงบทเรียนจากการที่มีสัตว์จำนวนมาก ล้มตายหลังจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน เขาจึงเริ่มต้นการอภิปรายทุกครั้งด้วยประโยค “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า” จากนั้นปี พ.ศ. 2531 สืบ นาคะเสถียร และเพื่อนนักอนุรักษ์ ออกมาคัดค้านการที่บริษัทไม้อัดไทยจะขอสัมปทานทำไม้ ที่ป่าห้วยขาแข้ง โดยสืบได้อภิปรายว่า “คนที่อยากอนุญาตให้ทำไม้ก็เป็นกรมป่าไม้ คนที่จะรักษาก็เป็นกรมป่าไม้เหมือนกัน”

สืบ นาคะเสถียร และเพื่อนอนุรักษ์ออกโรงคัดค้านการที่บริษัทไม้อัดไทยจะขอสัมปทานทำไม้ ที่ป่าห้วยขาแข้ง สืบ นาคะเสถียร ได้อภิปรายว่า “คนที่อยากอนุญาตให้ทำไม้ก็เป็นกรมป่าไม้ คนที่จะรักษาก็เป็นกรมป่าไม้เหมือนกัน”
ภาพจาก : มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร

ต่อมาปี พ.ศ. 2532 สืบ นาคะเสถียร ได้รับทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ แต่เขาตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งสืบได้พบปัญหาต่าง ๆ มากมายในห้วยขาแข้ง อาทิ ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของบุคคลที่มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่า “ที่สำคัญคือปัญหาเหล่านี้ไม่เคยได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่เลย สืบจึงทุ่มเทเขียนรายงานนำเสนอยูเนสโก เพื่อพิจารณาให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก อันเป็นสิ่งค้ำประกันให้พื้นที่แห่งนี้ได้รับการคุ้มครองเต็มที่”

 สืบ นาคะเสถียร รับเป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสัตว์นับพันตัวได้รับความช่วยเหลือ แต่ สืบ นาคะเสถียร รู้ดีว่ามีสัตว์อีกนับจำนวนมหาศาลที่ตายจากการสร้างเขื่อน และในระหว่างนั้น สืบ นาคะเสถียร ได้ค้นพบรังนกกระสาคอขาวปากแดงครั้งแรกในประเทศไทย
ภาพจาก : มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร

1 ชีวิตดับเพื่อหลายคนตื่น
ด้วยความที่ต้องรับแรงกดดันหลาย ๆ ด้าน และเพื่อเป็นการเรียกร้องต่อหน่วยงานภาครัฐให้ใส่ใจต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างแท้จริง “สืบ นาคะเสถียร” จึงตัดสินใจสะสางงาน และเขียนพินัยกรรมไว้เรียบร้อย ก่อนกระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยปืน 1 นัด ในป่าลึกที่ห้วยขาแข้ง เพื่อเรียกร้องให้สังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง

ข้อความจาก “สืบ นาคะเสถียร”
ภาพจาก : มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร

สองสัปดาห์ต่อมา.. ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จึงประชุมกำหนดมาตรการป้องกันการบุกรุกป่าห้วยขาแข้ง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ “สืบ นาคะเสถียร” ได้พยายามขอให้ประชุมมาแล้วหลายครั้ง จึงมีผู้กล่าวว่า ถ้าไม่มีเสียงปืนในวันนั้น ก็ไม่มีการประชุมดังกล่าวเกิดขึ้น..

ภาพจาก : มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร

ชีวิตที่ไม่สูญเปล่า
ในที่สุดความพยายามและตั้งใจของ “สืบ นาคะเสถียร” ที่จะปกป้องผืนป่าและสัตว์ทั้งหลายก็เป็นผลสำเร็จ เนื่องจาก องค์การยูเนสโกประกาศให้ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง” เป็นแหล่งมรดกโลก เมื่อปี พ.ศ. 2534 อย่างไรก็ตาม เมื่อปี พ.ศ. 2542 ยังมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศว่า ในรอบ 50 ปี เสียดายการจากไปของสามัญชนผู้ใดมากที่สุด ปรากฏว่า “สืบ นาคะเสถียร” เป็นผู้ที่ประชาชนเสียดายมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 อีกด้วย..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร