นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า กรณีการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารสำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน (แท็กซี่มอเตอร์) ที่ผ่านมา มีข้อร้องเรียนจากผู้ขับแท็กซี่ได้ยื่นเรื่องถึงกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เบื้องต้น ได้รับทราบจาก ขบ. ว่าได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากเวทีสาธารณะ โดยมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น สภาคุ้มครองผู้บริโภค นักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งสาธารณะ และองค์การนอกภาครัฐ (เอ็นจีโอ)​ เป็นต้น ซึ่งได้ข้อสรุปว่าทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกัน ให้พิจารณาปรับอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่เนื่องจากดัชนีผู้บริโภค (ซีพีไอ) เพิ่มขึ้น 7% จาก 5 ปีก่อน หรือตั้งแต่ปี 2560

ดังนั้นตนได้มอบหมายให้ ขบ. พิจารณาตัวเลขการปรับอัตราค่าโดยสารดังกล่าว หากดัชนีซีพีไอมีการปรับขึ้น ค่าโดยสารก็ต้องเพิ่มขึ้น แต่ถ้าในกรณีดัชนีเคพีไอลดลง อัตราค่าโดยสารก็ต้องปรับตัวลดลงตามด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีความคิดเห็นของสภาผู้บริโภค มองว่าหากปรับอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้น ต้องมีการปรับปรุงมาตรฐานและคุณภาพในการให้บริการ ซึ่งในมุมของผู้ให้บริการแท็กซี่ในปัจจุบัน ก็ได้มีการปรับปรุงมาตรฐานแล้วเช่นกัน

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า หลังจากนี้จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนอีก 2 ครั้ง โดยจะจัดขึ้นภายในเดือน ก.ย. และ ต.ค.นี้ ทั้งในรูปแบบเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น และรูปแบบออนไลน์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในการพิจารณาปรับอัตราค่าโดยสารภายในเดือน ธ.ค.65 แต่หากท้ายที่สุด ไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ตนไม่สามารถอนุญาตพิจารณาปรับอัตราค่าโดยสารได้

นอกจากนี้ในกรุงเทพฯ​ และ​ปริมณฑล​ มีระบบขนส่งมวลชน​อีกหลายทางเลือก เช่น เรือ รถไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน ขบ. เริ่มคิกออฟรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า (อีวี)​ ให้บริการแล้วจำนวน 153 คัน เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา และตั้งเป้าเปิดให้บริการรถโดยสารไฟฟ้า (รถเมล์อีวี) จำนวน 1,250 คัน ภายในปีนี้ต่อไป ส่วนองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) และบริษัทขนส่งจำกัด (บขส.) อยู่ระหว่างดำเนินการในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน อีกทั้งกระทรวงฯ ได้ตั้งเป้าหมายว่า การให้บริการรถสาธารณะ​รูปแบบเดิม หรือการให้บริการรถโดยสารธรรมดา (รถร้อน)​ จะหมดไปภายใน 3 ปี