ภายหลังจากเดลินิวส์ ได้นำเสนอเปิดประเด็นถึงการก่อสร้างอาคารและสถานที่ราชการ บางแห่งเกิดอุปสรรคปัญหาจนเกิดความล่าช้าผิดปกติ จนทำให้มีภาคประชาชนหรือกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่เกิดความสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น อาทิ โครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา หรือ อควาเรียมหอยสังข์ ในวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ จ.สงขลา ซึ่งก่อสร้างไม่เสร็จถูกทิ้งร้างนานกว่า 10 ปีใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ นอกจากนี้ยังอาคารผู้ป่วยนอก รพ.สุราษฎร์ธานี ส่งงานล่าช้ากว่ากำหนด 3 ปี แม้จะต่อสัญญาให้ 8 ครั้งก็ยังสร้างไม่เสร็จ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ทีมข่าวเฉพาะกิจส่วนกลางเดลินิวส์ ได้รับแจ้งข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่ จ.ชลบุรี อยากให้สื่อช่วยลงมาเกาะติด “โครงการก่อสร้างสนามฟุตบอล”พร้อมอัฒจรรย์ ขนาด 20,000 ที่นั่ง ภายในศูนย์กีฬาแห่งชาติภาคตะวันออก ซอยชัยพฤกษ์ 2 เมืองพัทยา ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เพราะเชื่อว่าน่าจะเป็นอีกโครงการฯที่สร้างมานานหลายสิบปีเช่นกัน ตอนนี้เห็นมีหญ้าขึ้นปกคลุมอยู่รอบๆบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง ทำให้ประชาชนและบรรดาผู้ชื่นชอบกีฬาฟุตบอลในพื้นที่ชลบุรี ต่างสงสัยมาตลอดว่าติดขัดปัญหาอะไรกันแน่ ทำไมการก่อสร้างหยุดชะงักอีก เห็นทางเดลินิวส์กำลังนำเสนอข่าวปัญหาก่อสร้างอาคารของภาครัฐล่าช้าในหลายพื้นที่จึงอยากให้นำเสนอเรื่องนี้ด้วย

เมื่อไปไล่ไทม์ไลน์ข้อมูลย้อนหลังพบว่า เคยมีสื่อมวลชนหลายแขนง นำเสนอข้อมูลการก่อสร้างโครงการฯเริ่มจากปี พ.ศ. 2551 เบื้องต้นสภาเมืองพัทยา ได้จัดทำศูนย์กีฬาแห่งชาติภาคตะวันออก เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวโดยใช้กีฬาเป็นสื่อ จัดสรรงบประมาณดำเนินการ 774 ล้านบาทมีครบวงจร ทั้งโรงยิมเนเซียมขนาดใหญ่มาตรฐาน, สนามกีฬาฟุตบอล, สระว่ายน้ำพร้อมโครงหลังคาระยะทาง 50 เมตร (8 ลู่), สนามเทนนิส, สนามบาสเกตบอล และสนามฝึกซ้อมอีกกว่า 10 สนาม จุดเด่นน่าจะอยู่ที่สนามฟุตบอล พร้อมอัฒจันทร์สวยงามแบบทันสมัยใหม่ ความจุ 20,000 ที่นั่ง

โดยระหว่างก่อสร้างระยะที่ 1 ได้เกิดปัญหาในเรื่องของการรับจ้างจากภาคเอกชน จนทำให้งานสร้างสนามฟุตบอลและอัฒจันทร์ล่าช้า ส่วนยิมเนเซียมก่อสร้างเสร็จเปิดใช้แข่งขันกีฬาในร่มปกติ บางครั้งยังใช้เป็นศูนย์แสดงสินค้า ต่อมาปี 2557 หลังรัฐประหาร 22 พ.ค.57 พบมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกองทัพภาคที่ 1 เพื่อให้กำลังเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพลพัฒนาที่ 1 เข้ามาเร่งดำเนินการก่อสร้างในระยะที่ 2 เป็นพื้นที่โครงสร้างของที่นั่งฝั่งอัฒจันทร์ฝั่งประธาน ของสนามฟุตบอล ตามมาตรฐานแบบของการกีฬาแห่งประเทศไทย รวมทั้งในส่วนของโครงการหลังคา ทหารขนทั้งกำลังพล อุปกรณ์เครื่องมือจำนวนมากเข้ามาลุยก่อสร้างคึกคักจนมีความคืบหน้ากว่าเดิม

หลังจากทหารกองพลพัฒนาที่ 1 เข้ามาก่อสร้างระยะที่ 2 ไปได้ประมาณ 3 ปีเศษ ทางคณะสมาชิกสภาเมืองพัทยา พร้อมด้วยนายทหารได้พาคณะสื่อมวลชน ร่วมเข้าตรวจสอบสภาพพื้นที่ก่อสร้างอีกครั้ง เนื่องจากมีประชาชนสอบถามถึงความคืบหน้าโครงการฯ แม้จะเสร็จเป็นรูปเป็นร่างไป 70% อัฒจันทร์เสร็จ 2 ด้าน ขึ้นโครงหลังคาฝั่งประธานอาคารสำนักงาน เสาไฟใหญ่ทั้ง 4 มุม ฯลฯ แต่ก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์แบบ จึงกลายเป็นว่าตั้งแต่เริ่มโครงการฯ ปี 2551-60 รวมเวลา 9 ปี สนามกีฬาฟุตบอลและลู่วิ่งก็ยังไม่สามารถเข้าไปใช้ทำประโยชน์แข่งขันได้

สุดท้ายเรื่องก็เงียบหายไปอีก กระทั่งปีที่แล้ว มี.ค. 64 ทางเมืองพัทยายังคงยืนยันว่า สนามฟุตบอลพร้อมอัฒจันทร์จะเสร็จแน่นอน ระบุโครงสร้างหลักทั้งอัฒจันทร์และอื่นๆ ดำเนินการเสร็จเกือบหมดแล้วจะเหลือเพียงรายละเอียดปลีกย่อย มุงหลังคาและการตกแต่งเท่านั้น โดยให้เหตุผลว่าที่ล่าช้าไปบ้างมีความจำเป็นต้องขยายเวลาการก่อสร้าง เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องขุดเจาะฝังเสาเข็มฐานรากซึ่งเป็นพื้นหินแกรนิต และหากเสร็จก็มีแผนการจัดแข่งขันกีฬาเปิดใช้สนามอย่างเป็นทางการรองรับไว้แล้ว โดยได้รับการประสานงานจากสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทยฯ ปี 2566 วางแผนจัดการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์เอเชีย ครั้งที่ 25

อย่างไรก็ดี ทางเดลินิวส์จะได้ส่งทีมข่าวเฉพาะกิจ ลงไปตรวจสอบในพื้นที่โครงการฯเพื่อตรวจสอบข้อมูลถึงข้อเท็จจริงในการก่อสร้างสนามฟุตบอล คืบหน้าไปมากน้อยเพียงใด ปัจจุบันยังคงก่อสร้างอยู่หรือไม่