นางลิซ ทรัสส์ มีชื่อเต็มว่า แมรี เอลิซาเบธ ทรัสส์ เกิดเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2518 ที่เมืองออกซฟอร์ด ในครอบครัวซึ่งบิดาเป็นศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์ และมารดาเป็นพยาบาล สำเร็จการศึกษาจากสถาบันด้านปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เมื่อปี 2539

ทรัสส์มีนางมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของสหราชอาณาจักร เป็นแบบอย่าง นับตั้งแต่สวมบทบาทเป็นผู้นำหญิงเหล็ก ในการแสดงละครเวทีของโรงเรียน เมื่ออายุเพียง 7 ขวบ

อีก 39 ปีต่อมา หลังแธตเชอร์สร้างประวัติศาสตร์นำพรรคอนุรักษนิยมชนะการเลือกตั้งทั่วไป ด้วยเสียงข้างมากเหนือพรรคแรงงาน 144 เสียง ทรัสส์สามารถเดินตามรอยแธตเชอร์ได้อย่างสมเกียรติ ก้าวขึ้นสู่การดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม ซึ่งเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักรในปัจจุบัน และการทำหน้าที่ผู้นำรัฐบาล สร้างประวัติศาสตร์เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของประเทศ ต่อจากแธตเชอร์ และนางเทเรซา เมย์

Guardian News

สำหรับจุดยืนทางการเมืองของทรัสส์ในประเด็นหลักนั้น ก่อนการลงประชามติเมื่อปี 2559 ทรัสส์ยืนกรานคัดค้านการเบร็กซิต อย่างไรก็ตาม เมื่อเสียงข้างมากระบุว่า ต้องการให้สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ทรัสส์ปรับเปลี่ยนท่าที ด้วยการกล่าวว่า เบร็กซิตถือเป็นการสร้างโอกาส “ให้กับการแก้ไขและปฏิรูป”

ในสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ทรัสส์ดำรงตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม ระหว่างปี 2559-2560 แล้วย้ายมาดำรงตำแหน่งรมว.การคลัง ระหว่างปี 2560-2562

ต่อมาในยุคของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ทรัสส์ได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้านการค้าระหว่างประเทศ และตามด้วยการดำรงตำแหน่ง รมว.การต่างประเทศ เมื่อเดือน ก.ย. 2564 การอยู่ในตำแหน่งหนึ่งในรัฐมนตรีกระทรวงใหญ่ที่สุดและเป็น “เกรดเอ” ด้วยวัย 46 ปี ถือได้ว่า ทรัสส์คือหนึ่งในนักการเมืองหญิงดาวรุ่งของสหราชอาณาจักร ที่ทุกฝ่ายต้องจับตามอง

ผลงานโดดเด่นของทรัสส์ในฐานะเจ้าหน้าที่การทูตหมายเลขหนึ่งของสหราชอาณาจักร รวมถึงการสามารถแก้ไขเนื้อหาบางส่วนของข้อตกลงเบร็กซิต ในประเด็นเกี่ยวกับไอร์แลนด์เหนือ เรียกเสียงวิจารณ์อย่างหนักจากสหภาพยุโรป (อียู) นอกจากนั้น ยังมีการช่วยเหลือตัวประกันชาวสหราชอาณาจักรเชื้อสายอิหร่าน 2 คน ออกจากกรุงเตหะราน และการประกาศจุดยืนหนักแน่น ว่าสหราชอาณาจักรอยู่เคียงข้างยูเครน

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายวิจารณ์อย่างหนักเช่นกัน ต่อการที่เธอสนับสนุนพลเมืองสหราชอาณาจักรให้ร่วมรบในยูเครน ในฐานะทหารอาสาหรือนักรบรับจ้าง

แม้มีแธตเชอร์เป็นแบบอย่าง แต่ทรัสส์เคยกล่าวว่า เธอไม่ต้องการให้สังคมมองและคาดหวังกับนักการเมืองหญิงของสหราชอาณาจักรทุกคน ว่าจะต้อง “เหมือนแธตเชอร์” ซึ่งเส้นทางการพิสูจน์ฝีมือของเธอได้เริ่มขึ้นแล้ว ณ บัดนี้.

เครดิตภาพ : REUTERS