เมื่อวันที่ 6 ก.ย. นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังนำคณะสื่อมวลชนร่วมทดสอบเดินขบวนรถไฟดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 เส้นทาง กรุงเทพ (โรงงานมักกะสัน)-ฉะเชิงเทรา-กรุงเทพ (สถานีหัวลำโพง) ว่า การทดสอบเรียบร้อยดี ไม่พบปัญหาใด การเดินรถใช้ความเร็วประมาณ 100 กิโลเมตร (กม.) ต่อชั่วโมง (ชม.) ใช้เวลาเดินทางไป-กลับ ประมาณ 2 ชั่วโมง ในการเดินรถสัมผัสได้ถึงความนุ่มนวล และความสมบูรณ์ของตัวรถ ซึ่งผลการทดสอบเป็นที่ประจักษ์ว่า รถไฟมือสองที่ได้รับมอบจากประเทศญี่ปุ่น ไม่ใช่รถไฟเศษเหล็กตามที่มีดราม่ากันในช่วงแรกที่มีการรับมอบรถ

นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า สำหรับรถไฟดีเซลราง KIHA 183 รฟท. รับมอบจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR HOKKAIDO) ประเทศญี่ปุ่น โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ปี 60 จำนวน 17 คัน ประกอบด้วย รถดีเซลรางปรับอากาศ แบบมีห้องขับสูง (High Cab) 40 ที่นั่ง 8 คัน รถดีเซลรางปรับอากาศ แบบไม่มีห้องขับ 68 ที่นั่ง 8 คัน และรถดีเซลรางปรับอากาศ แบบมีห้องขับต่ำ (Low Cab) 52 ที่นั่ง 1 คัน

ทั้งนี้ รฟท. รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการขนย้ายคันละ 2.5 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 42.5 ล้านบาท และขนส่งมาถึงประเทศไทย พร้อมรับขบวนรถเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.64 จากนั้นได้นำมาดัดแปลง ปรับปรุง และทำสีใหม่ ค่าใช้จ่ายอยู่ที่คันละประมาณ 2 แสนบาท ซึ่งหากจัดซื้อตู้โดยสารใหม่จะมีค่าใช้จ่ายสูงถึงคันละ 80-100 ล้านบาท ถือว่าเป็นการดัดแปลงที่มีความคุ้มค่า ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับ รฟท. ได้มากกว่าการซื้อตู้โดยสารใหม่ถึง 400 เท่า โดยรถที่ปรับปรุงแล้วสามารถใช้งานได้นานประมาณ 15-20 ปี

นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ฝ่ายการช่างกล รฟท. ได้ปรับปรุงรถไฟดีเซลราง KIHA 183 เสร็จสมบูรณ์แล้ว 3 คัน อยู่ระหว่างพ่นสีอีก 1 คัน คาดว่าจะสามารถนำรถไฟดีเซลราง KIHA 183 ทั้ง 4 คันมาให้บริการประชาชนได้ในเดือน ต.ค.65 เพื่อรองรับฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ส่วนจะให้บริการในเส้นทางใด อยู่ระหว่างการพิจารณา โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนด้วย ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นรถไฟรูปแบบท่องเที่ยว เดินรถในระยะทางไป-กลับไม่เกิน 300 กม. เช่น เส้นทางน้ำตก จ.กาญจนบุรี และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ส่วนอีก 13 คันที่เหลือ จะทยอยปรับปรุงต่อไป โดยช่วงต้นปี 66 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้อีก 4 คัน และจะให้บริการครบทั้งหมด 17 คันภายในสิ้นปี 66