สุดช้ำ กลุ่มผู้เลี้ยงม้า เปิดเผยความอัดอั้นตันใจ จากผู้ได้รับความเดือดร้อน การระบาดของ “กาฬโรคม้า” โรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเททศไทยมาก่อน เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ม้าไทย จำนวนมากต้องมาล้มตายจากเชื้อ โรคแอฟริกันฮอสซิกเนส (African Horse Sickness : AHS) สายพันธุ์ (serotype) โรคประจำถิ่นในประเทศแถบทวีปแอฟริกา แต่ใครจะไปเชื่อ “จากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและเสียหาย ได้กลายเป็นจำเลยไปแล้ว ฟังแล้วก็ตลกดีแต่ขำไม่ออกครับ”

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ในโลกโซเชียลที่ กลุ่มผู้เลี้ยงม้า ออกมาเคลื่อนไหวเขียนบรรยายเรื่องกาฬโรคม้า จากในเฟซบุ๊ก Nopadol Saropala หรือ รศ.นพ.นพดล สโรบล เจ้าของฟาร์มหมอปอ ในพื้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ใจความพอจะสรุปได้ว่า จำได้ไหมครับเหตุการณ์กาฬโรคม้าระบาดเมื่อต้นปี 2563 ที่คร่าชีวิตม้าในประเทศไทยไปมากเป็นประวัติศาสตร์เกือบ 700 ตัว เบื้องต้นพบว่าต้นเหตุมาจากการนำเข้า “ม้าลาย” ที่มีเชื้อโรคนี้อยู่ในตัว แต่ยังไม่จบนะครับ ม้าลายกลุ่มที่เป็นโรคปัจจุบันก็ยังลอยนวลใช้ชีวิตอย่างเป็นอิสระตามสถานประกอบการต่างๆ

ขออนุญาตเตือนความจำพวกเรานิดนึง หลังจากที่เกิดการระบาดของ โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าไทย กรมปศุสัตว์ ได้ส่งทีมสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ที่ต้องสงสัย สุ่มยิงยาสลบม้าลายบางตัวเพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อไวรัสตัวนี้ ผลเลือดยืนยันว่า ม้าลายบางตัวมีโรคนี้อยู่จริง เนื่องจากกาฬโรคแอฟริกาในม้าเป็นโรคอุบัติใหม่ไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทยมาก่อน จึงสรุปได้ว่าม้าลายที่มีการอิมพอร์ตเข้ามาในประเทศไทยเป็นแหล่งกำเนิดของโรคนี้อย่างแน่นอน

คำถาม คือ 1. วัตถุประสงค์ของการนำเข้าม้าลายจำนวนเป็นร้อยๆ ตัวของผู้ประกอบการ เอาเข้ามาเพื่ออะไร
2. วิธีการนำเข้ากล่าวคือหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบในการอนุมัติการนำเข้าม้าลายเหล่านี้ทำงานอย่างรอบคอบในการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ซึ่งเป็นโรคที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดแล้วหรือยัง
ตอบข้อที่ 1. สถานประกอบการแห่งหนึ่งอ้างว่านำเข้าม้าลายเกือบ 300 ตัวเข้ามาเพื่อประกอบธุรกิจสวนสัตว์ สถานประกอบการดังกล่าวได้ขออนุญาตและได้รับใบอนุมัติให้นำเข้าม้าลายเหล่านี้จากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็เป็นหน่วยงานเดียวกันที่ออกใบอนุมัติให้สถานประกอบการนี้ก่อสร้างสวนสัตว์ ข้อสังเกตคือหลังจากที่เกิดโรคระบาดและกรมปศุสัตว์ได้ส่งทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบเจาะเลือดม้าลายเหล่านี้

พบว่าสถานประกอบการดังกล่าวไม่มีการสร้างสวนสัตว์แต่อย่างใด มีเพียงคอกกักสัตว์ชั่วคราวและมีม้าลายจำนวนมาก อีกทั้งสัตวแพทย์ของสถานประกอบการนี้เคยให้การกับคณะกรรมการสอบสวนของกรมปศุสัตว์และยอมรับว่าเคยพยายามขายม้าลายจำนวนหนึ่งไปยังประเทศจีนแต่เมื่อเจาะเลือดตรวจเมื่อเดือนธันวาคม 2562 คือเพียง 3 เดือนก่อนเกิดโรคระบาดพบว่าม้าลายของตนบางตัวให้ผลบวกต่อโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ผมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่เข้าร่วมประชุมวันนั้นด้วยได้ยินจากหูทั้งสองข้างเลยครับ ทุกคนตกใจในการให้การของเค้า ตกลงว่าเป็นสวนสัตว์หรือเป็นพ่อค้าสัตว์ข้ามชาติกันแน่
คำตอบที่ 2. คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ม้าลายที่ถูกนำเข้าเป็นแหล่งนำเชื้อกาฬโรคแอฟริกาในม้าเข้ามาในประเทศไทย ม้าเกือบ 700 ตัวต้องตายเพราะโรคนี้ นอกจากการสูญเสียทางด้านจิตใจแล้วเจ้าของม้านับ 10 คน ได้รับความเสียหายหลาย 10 ล้านบาท จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้กระทั่งบางคนมีอาชีพจูงม้าให้เช่าขี่ตามชายหาดหัวหิน ประชาชนผู้มีรายได้น้อยเป็นร้อยๆ คนได้รับผลกระทบจากโรคระบาดนี้ แล้วใครเป็นคนรับผิดชอบล่ะครับ การที่ม้าลายเหล่านี้เข้ามาเดินเล่นในบ้านเราได้ก็ต้องมีสองปัจจัย :
1. ผู้ประกอบการหรือเจ้าของที่ซื้อม้าลายและนำเข้ามาในประเทศ
2. เจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐที่ออกใบอนุมัติให้นำเข้าม้าลายเหล่านี้ เป็นที่สังเกตว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติการนำเข้าม้าลายจะมีปัญหาเล็กน้อย ดูเหมือนจะมีการปัดความรับผิดชอบไปยังอีกหน่วยงานหนึ่งเสมอ ตั้งแต่ขั้นตอนแรกในกระบวนการขออนุญาตนำเข้าเช่นการตรวจเอกสารการตรวจเลือดม้าลายจากต่างประเทศ ก่อนและหลังจากที่ถึงสนามบินสุวรรณภูมิ รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องกักสัตว์ หรือไม่ถูกปัดให้เป็นความรับผิดชอบของกรมปศุสัตว์โดยสิ้นเชิง

2 หน่วยงานเคยให้สัมภาษณ์ออกทีวีในรายการโทรทัศน์ ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า หน้าที่ของหน่วยงานของตนมีเพียงแค่นับจำนวนสัตว์ที่เข้ามาและตรวจประเภทสัตว์ที่เข้ามาเท่านั้น มิได้มีหน้าที่ในการตรวจสอบว่าสัตว์เหล่านั้นอาจมีปัญหาเรื่องการนำโรคเข้ามายังราชอาณาจักรไทยหรือไม่ ส่วนอีกหน่วยงานก็ได้ชี้แจงในการสัมภาษณ์เดียวกันนั้นว่าในกรณีของการนำเข้าม้าลายนั้น ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าแต่อย่างใดทั้งสิ้น เนื่องจากม้าลายไม่ได้อยู่ในพระราชบัญญัติโรคระบาด

การขัดแย้งในการให้ข้อมูลระหว่าง 2 หน่วยงานในการให้สัมภาษณ์ครั้งนั้น ทำให้พิธีกรไปไม่ถูกเลย เธอทำหน้างงๆ มึนไปหมด ข้าราชการระดับสูงของทั้งสองหน่วยให้ข้อมูลตรงกันข้าม ผมเองได้สอบถามหลายต่อหลายครั้งเพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้ ในเมื่อ 2 หน่วยมีข้อขัดแย้ง มีกฎเกณฑ์กติกาที่ตรงกันข้ามกัน มีการปฏิบัติงานที่ไม่สอดคล้องกัน ประชาชนจะไว้เนื้อเชื่อใจและพึ่งพาอาศัยหน่วยงานของรัฐได้อย่างไร

พวกผมผู้เสียหายเพียงแค่ต้องการให้มีคนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขอให้เยียวยาตามความเหมาะสม เราได้เรียกร้องขอความเป็นธรรมขอให้มีการรับผิดชอบ ขอให้มีการชดเชยแต่กลับถูกแจ้งความฟ้องกลับ หาว่าพวกเรากล่าวคำเท็จ จากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายกลายเป็นจำเลยไปแล้ว ฟังแล้วก็ตลกดีแต่ขำไม่ออกครับ ที่สำคัญโรคนี้ยังไม่หายไปจากประเทศไทยนะครับ ม้าลายที่เป็นโรคนี้หลายตัวยังเดินเล่นอยู่ในบ้านเรา เป็นระเบิดเวลาสามารถจะระเบิดได้ ตลอดเวลา

เชื่อไหมครับว่ากรมปศุสัตว์ ต้องเอาม้าหรือล่อไปเลี้ยงรอบๆแหล่งพักอาศัยของม้าลายเหล่านี้ เหมือนกับติดสัญญาณกันขโมย ถ้าวันดีคืนดีมีม้าหรือล่อตายขึ้นมาก็หมายความว่าอาจมีการติดเชื้อแล้ว จะได้มีการตรวจสอบยืนยันและควบคุมไม่ให้เกิดโรคระบาดอีก

ที่เป็นน่าเศร้าใจอย่างยิ่งคือ ขณะที่ม้าลายเป็นอิสระเดินเล่นข้างนอกในอากาศที่สดใส ม้าของประชาชนตกเย็นต้องถูกขังในคอกมีมุ้งเพื่อป้องกันไม่ให้มีแมลงดูดเลือดเช่นริ้นเข้ามาตอมและอาจนำเชื้อกาฬโรคแอฟริกาในม้ามาสู่ม้าของเรา ไม่รู้ว่าระเบิดเวลานี้จะระเบิดเมื่อไร?

ทั้งหมดเป็นเนื้อหาของผู้เลี้ยงม้าที่สะท้อนความในใจออกมา หลังจากเคยเป็นผู้เดือดร้อนต้องสูญเสียม้าไปแล้ว จากกาฬโรคม้า ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย สุดท้ายกลับกลายเป็นว่าผู้เดือดร้อนต้องมาถูกหน่วยงานภาครัฐฟ้องจนต้องตกมาเป็นจำเลยไปแบบไม่น่าเชื่อ ซึ่งทางทีมข่าวเดลินิวส์ จะได้ติดตามความคืบหน้ามานำเสนอต่อไป.