สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จสวรรคตอย่างสงบ ที่ปราสาทบัลมอรัล ในสกอตแลนด์ เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา สิริรวมพระชนมพรรษา 96 พรรษา ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี


ตลอดรัชสมัย 7 ทศวรรษแห่งการครองราชย์ พระองค์ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจและทรงเป็น “เสาหลัก” ให้กับสหราชอาณาจักร ในการเผชิญและฝ่าฟันกับความยากลำบาก และการเปลี่ยนแปลงทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ท่ามกลางการขับเคี่ยวแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจ แม้ราชวงศ์เผชิญกับเรื่องอื้อฉาว และเสียงวิจารณ์ต่าง ๆ นานา จากสื่อมวลชนและประชาชน แต่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ยังทรงยืนยัน “เป็นสัญลักษณ์” ซึ่งทุกฝ่ายให้ความเชื่อมั่น แม้พระองค์ไม่เคยพระราชทานสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ

BBC News


พระองค์ทรงนำและอยู่ร่วมกับบ้านเมือง ผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทุกมิติของสหราชอาณาจักร ตลอดช่วงทศวรรษที่ 1960 ไปจนถึงบรรยากาศการเมืองในยุคทศวรรษที่ 1980 ภายใต้การนำของรัฐบาลพรรคนุรักษนิยม โดยนายกรัฐมนตรีมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 3 สมัย ของนายโทนี แบลร์ จากพรรคแรงงาน และวิกฤติเศรษฐกิจปัจจุบัน ที่เป็นผลสืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสงครามในยูเครน


รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมและพรรคแรงงานสลับกันเข้ามาบริหารประเทศ สภาพสังคมของสหราชอาณาจักรแปรเปลี่ยนไป มีการให้การยอมรับสิทธิสตรีมากขึ้น สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงผ่านพ้นสงครามเย็น ที่รวมถึงการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน และการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

ตลอดระยะเวลาซึ่งทรงครองราชย์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร 15 คน บริหารประเทศในฐานะ “รัฐบาลของสมเด็จพระราชินีนาถ” ตั้งแต่ เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล และคนล่าสุดคือ นางลิซ ทรัสส์ และตลอดรัชสมัยของพระองค์ สหรัฐมีประธานาธิบดี 14 คน ตั้งแต่นายแฮร์รี เอส. ทรูแมน จนถึงประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำคนปัจจุบัน


สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงพบกับผู้นำสหรัฐทุกคน ยกเว้นเพียงคนเดียว คือประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน นอกจากนี้ การลงประชามติของสหราชอาณาจักรเกี่ยวกับเบร็กซิต เมื่อปี 2559 ซึ่งนำไปสู่การลาออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ( อียู ) และก่อให้เกิดการแบ่งแยกอย่างหนักในสังคมของสหราชอาณาจักร รัฐบาลชาตินิยมของสกอตแลนด์พยายามผลักดันการลงประชามติแยกเอกราชอีกครั้ง


อย่างไรก็ตาม ก่อนการลงประชามติ เมื่อปี 2557 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ไม่ได้ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง แต่ตรัสว่า ผู้คนในสังคมควรมีถ้อยทีถ้อยอาศัยและเคารพในความเห็นต่าง ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ปรับความเข้าใจและแสวงหาจุดยืนตรงกลางร่วมกัน และมองโลกให้กว้างเข้าไว้ หลังจากนั้น ผลการลงประชามติปรากฏว่า สกอตแลนด์จะเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรต่อไป

สายรุ้งทอดยาวบนท้องฟ้าเหนือพระราชวังบักกิงแฮม ในกรุงลอนดอน ระหว่างที่ประชาชนจำนวนมากรวมตัว เพื่อฟังข่าวเกี่ยวกับพระพลานามัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2


ย้อนกลับไปเมื่อปี 2555 นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ผู้นำสหราชอาณาจักรในเวลานั้น กล่าวว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงไม่เคยปิดประตูของราชวงศ์ จากการก้าวไปสู่อนาคตและความเปลี่ยนแปลง ในทางกลับกัน พระองค์ทรงเป็นผู้นำทางให้ทุกฝ่ายติดตามอย่างราบรื่นจนพบกับแสงสว่าง


แน่นอนว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงประกาศพระราชประสงค์ของพระองค์ในเรื่องนี้ ชัดเจนตั้งแต่ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ โดยตรัสเมื่อวันคล้ายวันพระราชสมภพ 21 พรรษา ว่า “ตลอดชีวิตของข้าพเจ้า ไม่ว่าจะสั้นหรือยาวเพียงใด ข้าพเจ้าขออุทิศชีวิตเพื่อรับใช้พสกนิกร และเพื่อราชวงศ์”.

เครดิตภาพ : REUTERS