การเมืองไทย เดินมาถึงช่วงหัวเลี้ยว หัวต่อสำคัญภายหลังศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยชี้ขาดวาระ 8 ปี นายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วันศุกร์ที่ 30 ก.ย.เวลา 15.00 น.

ทว่าก่อนถึงวันชี้ชะตา พล.อ.ประยุทธ์ มีคิวแทรกที่น่าสนใจเมื่อ “พรรคก้าวไกล” หงายไพ่ใบใหม่เปิดแคมเปญภายใต้ชื่อ “RESET ประเทศไทยเลือกตั้งใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่” ใช้ช่องทางตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2564 มาตรา 9 (5) ล่ารายชื่อประชาชน 5 หมื่นรายชื่อ

เสนอทำประชามติเรื่อง ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อทำภารกิจยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่พร้อมกับการเลือกตั้งปีหน้า เพื่อประหยัดงบประมาณ โดยมีคนที่สนใจร่วมลงชื่อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทบทวนความจำก่อนที่ พรรคก้าวไกล ตัดสินใจงัดไพ่ประชามติทิ้งลงกลางวง ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 7 ก.ย. เกิดเหตุที่ประชุมรัฐสภา เสียงส่วนใหญ่ ตีตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับรวดในวาระแรก

โดยเฉพาะ ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชนที่สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และภาคประชาชนเข้าชื่อ 64,151 คน ขอแก้ไขมาตรา 272 ปิดสวิตช์ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี

ภาพรวมการลงมติ ตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี ครั้งนี้ แบ่ง ส.ส.-ส.ว. ออกเป็น 2 กลุ่มอย่างชัดเจน

(1) กลุ่มแรก พรรคพลังประชารัฐและ ส.ว.ส่วนใหญ่ลงมติไม่รับหลักการ มี ส.ว.ที่ยอมยกมือตัดอำนาจตัวเอง เพียง 23 คนซึ่งตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ต้องมีเสียง ส.ว.เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง

(2) กลุ่มสองพรรคฝ่ายค้าน พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ รับหลักการเรื่องตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ

เอาเป็นว่ามองข้ามชอตไปเลย การเดินหมากประชามติของพรรคก้าวไกลครั้งนี้คือ กลซ้อนกลที่หวังผลสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมือง พุ่งเป้าไปที่ 3 ฝ่าย

(1) เป้าแรกพุ่งไปที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามขั้นตอนกฎหมาย ภายหลังล่ารายชื่อครบ 5 หมื่นรายชื่อตามเงื่อนไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2564 มาตรา 9 (5) หลังจากนั้น ต้องเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบ หมายความว่า แม้ล่าชื่อได้ครบ 5 หมื่นรายชื่อ แต่การทำประชามติอาจไม่เกิดขึ้นจริง หาก ครม.ไม่เห็นด้วยในขั้นตอนสุดท้าย

พรรคก้าวไกลรู้ดีหากล่ารายชื่อประชาชนได้มากเท่าไหร่ ย่อมสร้างแรงกดดันบีบให้ ครม.ยอมอนุมัติให้ทำประชามติได้มากเท่านั้น หากล่ารายชื่อได้หลักล้านรายชื่อ ย่อมเป็นการยากที่ ครม.จะปฏิเสธ

(2) เป้าที่สองพุุ่งไปที่ทุกพรรคการเมือง หลังจากนี้กระทั่งก่อนถึงวันเลือกตั้งจะมีการเดินเกมจุดกระแส การทำประชามติยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพื่อบีบให้ ส.ส.ขั้วต่างๆ เปิดหน้าเลือกข้างแสดงจุดยืนทางการเมืองเพื่อให้คนไทยทั้งประเทศ ตัดสินใจก่อนเข้าคูหากาเบอร์ได้ง่ายขึ้น

(3) เป้าที่สามพุ่งไปที่ 250 ส.ว. ผลพลอยได้ของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ จะมีการโยนบาปไปให้ 250 ส.ว. ที่ทำตัวเป็น จระเข้ขว้างคลองหวงอำนาจ

โดยเฉพาะประเด็นเรื่องขอแก้ไขมาตรา 272 ปิดสวิตช์ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี เคยมีการเสนอเข้ารัฐสภารวมทั้งหมด 7 ครั้ง แต่ไม่เคยได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ครบเงื่อนไข 1 ใน 3 แม้แต่ครั้งเดียวซึ่งสามารถนำไปจุดกระแสเคลื่อนไหวนอกสภาได้เป็นอย่างดี

การจุดกระแสทำประชามติยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่เป็นหัวเชื้อสำคัญ สร้างแรงกระเพื่อมทางการเมือง ส่งผลต่อการตัดสินใจเข้าคูหาเลือกตั้งครั้งหน้าแน่นอน!