เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 20 ก.ย. บริเวณหน่วยเก็บขยะทางน้ำคลองหัวลำโพง เขตคลองเตย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกิจกรรมฟื้นฟูคลองหัวลำโพง เนื่องในวันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำคูคลองแห่งชาติ โดยมีนายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ดร.ไชโย จุ้ยศิริ ผู้อำนวยการส่วนแหล่งน้ำจืด กรมควบคุมมลพิษ น.ส.ปิยธิดา นิยม ผู้อำนวยการเขตคลองเตย และนางวาสนา ศิลป์เบ็ญจพร รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ ด้านวิชาการ ร่วมให้ข้อมูล รวมถึงผู้บริหารสำนักระบายน้ำ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขตคลองเตย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษ เครือข่าย ป.อนุรักษ์ ร่วมกิจกรรมโดยร่วมกันกันปลูกต้นอโศกอินเดีย 70 ต้น และลงเรือสำรวจสภาพน้ำและขยะในคลองหัวลำโพงด้วย

นายชัชชาติ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงคลองสวยน้ำใส จึงนึกถึงคลองหัวลำโพง ถือเป็นคลองที่โหดสุด เพราะมีความยาวไม่ถึง 3 กม. แต่มีบ้านเรือนที่รุกล้ำเข้ามา ซึ่งปัญหาน้ำเน่าเสียส่วนหนึ่งมาจากน้ำเสียในครัวเรือนด้วย จึงอยากพัฒนาคลองหัวลำโพงให้เป็นคลองต้นแบบ

นายชัชชาติ อธิบายต่อว่า เดิมคลองหัวลำโพง เป็นคลองที่วิ่งอยู่ในหัวลำโพง แต่ภายหลังถูกถมทำถนนจนกลายเป็นคลองเล็ก ๆ เป็นจุดที่ท้าทายมาก เพราะจะได้กลิ่นน้ำเน่าเหม็น บ้านเรือนที่อยู่ริมคลองก็ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงคลองทั้งห้องสุขา และการซักล้างต่าง ๆ ลงคลองทั้งหมด หากเป็นไปได้คงหาแนวทางปรับปรุงระบบห้องสุขาให้กับชุมชนริมคลองหัวลำโพง ส่วนต้นคลองก็มีตลาดคลองเตย เชือดไก่ เชือดหมู ชำระล้างลงคลอง ซึ่งไม่แน่ใจว่ามีบ่อบำบัดหรือไม่

โดยการฟื้นฟูคลอง เป็นหนึ่งในนโยบายข้อที่ 171 ครอบคลุมการดูแลตลาดให้ถูกสุขอนามัย ที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งคณะทำงานเพื่อหาพื้นที่นำร่องในการพัฒนาคลองให้สะอาด ก่อนขยายไปคลองอื่น ๆ ของ กทม. ส่วนคลองแสนแสบ คลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว มีโปรเจคท์แจกบ่อดักไขมัน และแก้ไขเรื่องการรุกล้ำพื้นที่ริมคลองด้วย  ซึ่งจุดนี้อยู่กลางเมือง ไม่กี่กิโลเมตรจากศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งจะมีผู้นำโลกมารวมกัน เป็นเรื่องท้าทายที่เราต้องทำให้ได้

ขณะที่ นายสมชาย กล่าวถึงแผนการฟื้นฟูคลองหัวลำโพง 3 เฟส เฟสแรก (ระยะ 6 เดือน) สร้างผังข้อมูลน้ำและโมเดลนำร่อง เฟสที่ 2 (ระยะ 10 เดือน) เริ่มโมเดลนำร่องในจุดที่น้ำมีคุณภาพแย่ ส่วนเฟสที่ 3 ปรับภูมิทัศน์บ้านเรือน และสำรวจความเข้มข้นของน้ำ

ด้าน ดร.ไชโย กล่าวว่า คลองหัวลำโพงวัดค่า FCB หรือค่าความสกปรกที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียจากสิ่งปฏิกูลได้หลักแสน หลักล้าน จากค่าเฉลี่ย 4,000 ส่วนค่าบีโอดี BOD (Biological Oxygen Demand ) หรือการหาปริมาณออกซิเจนที่แบคทีเรียใช้ในการหายใจ วัดได้หลักร้อย ซึ่งทั้งสองค่านี้สูงกว่าเกณฑ์ปกติการใช้ประโยชน์ของแหล่งน้ำประเภทที่ 3

ทั้งนี้ คลองหัวลำโพงนี้ รับน้ำมาจากท่อระบายน้ำชุมชนไผ่สิงโต และจะระบายน้ำไปสู่ สถานีสูบน้ำคลองเตย ก่อนจะไหลไปออกเจ้าพระยา บริเวณสถานีสูบน้ำพระโขนง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม ระหว่างที่นายชัชชาติ พร้อมคณะ และสื่อมวลชนลงเรือเพื่อสำรวจคลอง กลับมีฝนตกลงมาอย่างหนักทำให้ไปไม่ถึงจุดหมายที่วางแผนไว้ โดยล่องเรือไปได้เพียง 1 กม.เท่านั้น จึงหันเรือกลับมาเพื่อความปลอดภัย