เรื่องผังเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวทำไมคนกรุงต้องตื่นตี 5 เดินทางจากบ้านชานเมืองเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ แล้ว กว่าจะกลับถึงบ้านก็มืดค่ำ ก็เพราะผังเมืองไม่ดีทำไมบ้านเมืองรถติดวินาศสันตะโรสร้างอะไรกันส่งเดชไปหมดก็เพราะผังเมืองไม่ดีนั่นเองวันนี้เราจึงมาช่วยรัฐบาลในยุคปฏิรูปกระทุ้งสักหน่อยครับ

ในวันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม 2558 ที่บทความนี้ตีพิมพ์ในหนัง สือพิมพ์เดลินิวส์นั้นกำลังมีการสัมมนาใหญ่เรื่อง “ปฏิรูปผังเมือง 5 ภูมิภาค” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการ สาขาอสังหาริมทรัพย์หอการค้าไทย ที่ผมนั่งเป็นกรรมการอยู่ด้วยผมจึงเขียนเรื่องนี้เผื่อจะเป็นเอกสารประกอบการสัมมนาไปในตัวหวังใจให้เดลินิวส์และบทความนี้ได้สื่อสารสิ่งที่เป็นประโยชน์กับทางราชการ ผมไม่ได้เขียนจากความคิดของผมเท่านั้นแต่เขียนตามคำบอกเล่าจากผู้เดือดร้อนจากผังเมืองมาทุกหย่อมหญ้าด้วย

ผังเมืองไทยเกิดและอยู่มาอย่างเพี้ยน ๆ

ผังเมืองไทยนั้นริเริ่มมาตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเราจ้างฝรั่งมาช่วยวางผังเมืองให้ชื่อผัง Litchfield ที่เรียกขานตามบริษัทอเมริกันชื่อ Litchfield andWhiting Browne ท่านเชื่อหรือไม่เราวางผัง เมืองมาตั้งแต่ปี 2500 คือ ปีกึ่งพุทธกาล
และหวังใจว่าจะประกาศใช้ในปี 2503 โดยทศวรรษใหม่ตามแบบคริสตศักราช 1960 เช่นเดียวกับการเริ่มมีแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกเมื่อปี 2503แต่จนแล้วจนรอดผังเมืองกรุงเทพฯ ฉบับดังกล่าวก็ไม่ได้ประกาศใช้แก้ไขอยู่นั่น แก้ไขร่ำไปจนประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2535

ประเทศไทยมีกฎหมายผังเมืองมาตั้งแต่ปี 2495 แต่ผังเมืองกรุงเทพฯ มีในปี 2535 หรือ 40 ปี ให้หลังผมเชื่อว่าเรามี “มือที่มองไม่เห็น” พยายามไม่ให้มีผังเมืองส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะรัฐบาลเก่า(ป)เป็นคนเริ่มรัฐบาลใหม่ (ส) ก็คงกลัวว่าไม่ใช่ผลงานตนก็เลยดองเปรี้ยวดองเค็มกันไปแต่อีกแรงหนึ่งก็คือพวกคหบดีมีเงินมีอำนาจทั้งหลายคงไม่อยากให้มีผังเมืองเกิดขึ้นด้วยกลัวว่าตนจะเสียประโยชน์จากการใช้ที่ดินนั่น

ผังเมืองควรเป็นเสมือนแผนแม่บทสำหรับการวางแผนพัฒนาเมืองให้ทุกหน่วยงานใช้ร่วมกันทั้งไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ทางด่วน ถนนรถไฟฟ้า เพื่อวางแผนว่าตรงไหนจะพัฒนา ตรงไหนสงวนไว้ไม่พัฒนาที่ ๆ ได้รับการพัฒนาก็ต้องเสียภาษีมากกว่าที่ ๆ สงวนไว้ทำการเกษตรก็ต้องมีมาตรการส่งเสริมให้ได้ดีหาไม่ก็คงมีคนเลี่ยงกฎหมายผังเมืองเพราะเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมนั่นเอง

ตลกร้ายผังเมือง 215 ผังหมดอายุไปเกือบครึ่ง

มัวทำอะไรกันอยู่!?! ณ วันที่ 3 กรกฎาคม 2558 ผังเมืองทั้งหมดในประเทศไทยมี 215 ผังหมดอายุไปแล้ว 94 ผังหรือ 44% คงเหลือที่ยังไม่หมดอายุอีก 121 ผัง ในรายละเอียดพบว่าผังเมืองที่หมดอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป มี 5 ผังโดยผังเมืองที่หมดอายุถึงตั้ง 12 ปีแล้ว (2546) มีจำนวน 1 ผัง ผังเมืองที่หมดอายุถึงตั้ง 11 ปีแล้ว (2547) มีจำนวน 2 ผังและผังเมืองที่หมดอายุถึงตั้ง 10 ปีแล้ว (2548) มีจำนวน 2 ผัง

ส่วนผังเมืองที่หมดอายุตั้งแต่ 5-9 ปี มีถึง 47 ผัง โดยเป็นผังเมืองที่หมดอายุถึง 9 ปีแล้ว (2549) มีจำนวน 4 ผัง ผังเมืองที่หมดอายุถึง 8 ปีแล้ว (2550) มีจำนวน 9 ผัง ผังเมืองที่หมดอายุถึง 7 ปีแล้ว (2551) มีจำนวน 9 ผัง ผังเมืองที่หมดอายุถึง 6 ปีแล้ว (2552) มีจำนวน 16 ผัง และผังเมืองที่หมดอายุถึง 5 ปีแล้ว (2553) มีจำนวน 9 ผังส่วนผังเมืองที่หมดอายุไปพอสมควรและยังไม่ได้จัดทำใหม่คือที่หมดไป 2 ปีแล้ว มี 31 ผังโดยเป็นผังเมืองที่หมดอายุ 4 ปีแล้ว (2554) มีจำนวน 10 ผัง ผังเมืองที่หมดอายุ 3 ปีแล้ว (2555) มีจำนวน 11 ผังและผังเมืองที่หมดอายุ 2 ปีแล้ว (2556) มีจำนวน 10 ผัง

การที่ผังเมืองรวมหมดอายุเป็นปัญหาประการหนึ่ง ส่วนกลางอาจให้เหตุผลว่าได้ถ่ายโอนอำนาจให้ส่วนท้องถิ่นไปดำเนินการแล้ว แต่ส่วนท้องถิ่นอาจไม่มีบุคลากรและทรัพยากรในการดำเนินการ แต่หากมีการหมดอายุเป็นจำนวนมากย่อมแสดงว่ายังมีปัญหาที่ควรแก้ไข นอกจากนั้นปัญหาการก่อสร้างนอกเขตผังเมืองรวมเกิดขึ้นมากมายกลายเป็นการรุกที่ชนบททำให้เมืองขยายตัวอย่างไร้ขอบเขตก็เป็นปัญหาใหญ่ที่ผังเมืองไม่ได้ช่วยแก้ปัญหานี้เลย แม้ในปัจจุบันจำนวนผังเมืองหมดอายุจะน้อยลงกว่าแต่ก่อนแต่ ณ 44%ที่หมดอายุก็ยังถือว่ามากอยู่

ผังเมืองไทยเพี้ยน ทำลายชนบท 316 ตร.กม.

ผังเมืองที่ไม่ดีกลับทำลายพื้นที่ชนบทไปถึง 316 ตารางกิโลเมตรหรือ 400 เท่าของพื้นที่มักกะสันที่เราอยากจะเอามาทำสวนให้ได้แต่ทีกรณีที่บรรทัดทองของจุฬาฯ ที่โรงเรียนเตรียมทหารข้างสวนลุมพินีเองกลับไม่เคยคิดจะเอาไปทำสวนนี่จึงเป็นความคิดผิดเพี้ยนของนักผังเมืองไทยที่มุ่งให้กรุงเทพมหานครแลดู “หลวม” เก็บที่ไว้ให้ลูกหลาน (คนรวย ๆ) ทำให้กรุงเทพมหานครเพี้ยนไป

ในช่วง พ.ศ. 2545-57 มีประชากรลดลง 1.6% คือ 5,782,159 คน เหลือเพียง 5,692,284 คน แต่ในเขตปริมณฑลกลับมีประชากรเพิ่มจาก 3,886,695 คน ในปี 2545 เป็น 5,032,228 คน ในปี 2557 หรือเพิ่มขึ้น 29.5% หรือเพิ่มขึ้นปีละ 2.2% และหากเทียบประชากรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลทั้งหมดในปี 2545 และปี 2557 จะพบว่าประชากรเพิ่มจาก 9,668,854 คน เป็น 10,724,512 คน หรือเพิ่มขึ้น 10.9% หรือเท่ากับเพิ่มขึ้นปีละ 0.9% นั่นเอง

อาจกล่าวได้ว่าในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา ประชากรในเขตปริมณฑล เพิ่มขึ้น 1,145,533 คน หากในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตรมีผู้อยู่อาศัย 3,630 คนตามค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร ประชากรจำนวนข้างต้นนี้ก็จะใช้พื้นที่เพิ่มขึ้นประมาณ 316 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 403 เท่าของพื้นที่มักกะสัน 490 ไร่ ที่มีบางกลุ่มพยายามที่จะนำมาทำสวนทั้งที่เหมาะแก่การทำศูนย์คมนาคมในใจกลางเมืองพร้อมการพัฒนาเชิงพาณิชย์ประกอบ พื้นที่ 316 ตารางกิโลเมตรนี้คือขนาดพื้นที่ที่รุกเข้าไปในเรือกสวนไร่นา พื้นที่เกษตรกรรมในจังหวัดปริมณฑล เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นนี่เท่ากับเป็นการเพิ่มมลพิษให้กับเมืองนอกจากนี้ยังเสียต้นทุนอีกมหาศาลในการจัดหาสาธารณูปโภคในย่านชานเมืองอีกด้วย

สร้างนิคมอุตสาหกรรมแก้ผังเมืองไทย

ภาพที่เราเห็นจนชินตาแต่จริง ๆ มันคือมหันตภัยสำหรับเมืองและประชาชนเมืองรวมทั้งพื้นที่ชนบทก็คือโรงงานใหญ่น้อยทั้งหลายรุกเข้าไปในนาข้าวหรือพื้นที่เกษตรกรรมต่าง ๆ กันมากมายในสมัยก่อนเรามีบางนาที่ทำนาได้คุณภาพยอดเยี่ยมยิ่งกว่าอยุธยาเสียอีก แต่บัดนี้ก็ไม่มีแล้วสวนส้มบางมด สวนทุเรียนเมืองนนทบุรี เรือกสวนในบางกระเจ้าต่างถูกทำลายไปมากมาย พื้นที่ทุ่งรังสิตที่ครั้งหนึ่งเราจัดสรรไว้เพื่อการเกษตรกรรมเมื่อ 120 ปีก่อน บัดนี้ก็ถูกรุกไล่ไปหมด แม้แต่เขตชนบทในอยุธยาก็แทบจะแปลงสภาพกันแล้วไม่เพียงเท่านั้นแม้แต่ทุ่งนาในจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดโดยรอบอื่น ๆ ก็ถูกรุกไล่ไปหมดเลย

ถ้ากรมโยธาธิการและผังเมืองมีวิสัยทัศน์ในการวางผังเมืองที่ดีที่จะกำหนดว่าบริเวณไหนจะให้เมืองขยายไปก็จะสามารถเวนคืนที่ดินมาทำเมืองใหม่โดยในเมืองนั้นมี นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีการควบคุมมลพิษอย่างดีมีทั้งแปลงที่ดินสำหรับโรงงานใหญ่ ๆ ให้เช่าหรือซื้อขาย มีที่ตั้งโรงงานเล็ก ๆ แบบ SMEs รวมทั้งมีสำนักงานติดต่อของโรงงานต่าง ๆ ตลอดจนบริเวณพื้นที่การค้า พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่นันทนาการ ยิ่งกว่านั้นยังควรจะมีระบบขนส่งมวลชนทางรางและทางด่วนเชื่อมต่อเข้าเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

ยิ่งกว่านั้นเราสามารถประกาศได้ว่าในพื้นที่ทำนารอบ ๆ เมืองหรือในเขตชานเมืองห้ามนำไปทำกิจกรรมเชิงพาณิชย์ใด ๆ ใช้ได้แต่ทำนามีการควบคุมการใช้ที่ดินโดยเคร่งครัดไม่เอา “หูไปนาตาไปไร่” ไม่ปล่อยโอกาสให้ท้องถิ่นหรือหน่วยงานใดแอบให้ใบอนุญาตใช้พื้นที่ผิดไปจากที่วางผังเมืองไว้ การนี้จะทำให้ราคาที่ดินชนบทไม่สูงขึ้นไม่จูงใจให้ใครนำไปพัฒนาในทางอื่นรัฐบาลยังสามารถที่จะเสริมด้วยการอุดหนุนภาคการเกษตรในบริเวณชานเมืองเพื่อให้เกษตรกรรมชานเมืองมีความยั่งยืนอีกด้วย

ผังเมืองต้องให้ประชาชนทำ

ผังเมืองต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมไม่ใช่ให้ กทม.ซึ่งเป็นหน่วยราชการทำฝ่ายเดียวโดยไม่ฟังชาวบ้านอย่างกรณีโรงแรมดิเอทัสในซอยร่วมฤดีถูกศาลสั่งให้กรุงเทพมหานครรื้อ (ไม่ได้สั่งเจ้าของอาคารรื้อ) ก็เป็นอุทาหรณ์ผมไปสำรวจดูพบว่ามีอาคารขนาดยักษ์ในซอยร่วมฤดีมากมายโดยปริมาณการจราจรน่าจะมีมากกว่าของโรงแรมดิเอทัสเสียอีกอาคารเหล่านี้บางแห่งมีความสูงถึง 37 ชั้นสร้างอยู่ติดกับซอยร่วมฤดีเลยแต่อาคารเหล่านี้อาจรอดไป เพราะอ้างได้ว่ามีทางออกถนนวิทยุทั้งที่มีรถเข้าออกซอยร่วมฤดีเป็นจำนวนมาก

ความจริงไม่ควรสร้างอาคารดิเอทัส! นี่คือคำตอบถ้าถามชาวบ้านเมื่อ 50 ปีก่อนเพราะในย่านนั้นมีแต่บ้านขุนน้ำขุนนางหรือผู้มีอันจะกินมากมายอยู่กันอย่างสงบโดยผมไปพบบ้านหลายหลังที่ยังหลงเหลืออยู่อย่างในรูปที่แสดงนี้ปัจจุบันล้อมรั้วไว้แล้วแสดงว่าคงเพิ่งขายไปเพื่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่แต่หากนึกภาพดูว่าเมื่อ 50 ปีที่แล้วคงมีแต่บ้านแบบนี้และชาวบ้านก็คงไม่ยินดีหากมีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่

การนี้แสดงให้เห็นว่าถ้าการผังเมืองไทยให้คนท้องถิ่นมีส่วนร่วมตั้งแต่แรกก็คงไม่มีอาคารขนาดใหญ่รบกวนชาวบ้านแต่โดยที่ ๆ ผ่านมามีการก่อสร้างกันตามอำเภอใจสถานการณ์ในวันนี้จึงเปลี่ยนไปให้ชาวบ้านในซอยร่วมฤดีหรือในย่านสุขุมวิทลงประชามติว่าต้องการให้มีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่หรือรักษาอาคารเล็ก ๆ ไว้เช่นเดิม ก็เชื่อว่าส่วนใหญ่อาจต้องการการเปลี่ยนแปลงที่จะสามารถก่อสร้างอาคารสูงเพื่อเพิ่มมูลค่าของที่ดินมากกว่าการวางผังเมืองจึงจำเป็นต้องให้คนในท้องถิ่นเป็นผู้ตัดสิน

กรณีที่ถนนซอยกว้างไม่ถึง 10 เมตร สมมุติว่าหากชาวบ้านบางส่วนยอมถอยร่นเพื่อให้ถนนมีขนาดกว้างขวางขึ้นมีมูลค่าที่ดินมากขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายเชื่อว่าชาวบ้านคงมีความยินดีแต่หากถามชาวบ้านเพียงบางส่วนที่ไม่มีความเดือดร้อนและไม่นำพาต่อการเพิ่มมูลค่าเจ้าของที่ดินเหล่านั้นก็อาจอ้างข้อกฎหมายและทำตัวเป็น “จระเข้ขวางคลอง” อยู่ร่ำไป

เราต้องให้ประชาชนร่วมกันวางแผนพัฒนาเมืองครับอย่าให้ทางราชการทำแบบบนลงล่างโดยประชาชนไม่มีสิทธิใด ๆ.

ดร.โสภณ พรโชคชัย