หลายคนสงสัยและพูดถึงกันอย่างต่อเนื่อง!! เกี่ยวกับการ “ตัดแต่งต้นไม้” ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่บางคนมองว่าขัดหูขัดตา เพราะบ่อยครั้งพบเห็นตัดจนเหี่ยนเหลือแต่ “ตอ” ไร้ใบ ไร้กิ่ง ทั้ง ๆ ที่รณรงค์ให้คนกรุงช่วยกันปลูกต้นไม้ แต่ไหงกลับกลายเป็นการตัดจนเหลือแค่ลำต้น

“ชุมชนเมือง-เดลินิวส์” ลงพื้นที่ไปหาคำตอบ…โดยเจาะถึงขั้นตอนการดูแลรักษาและตัดแต่งต้นไม้ ซึ่ง กทม.มีแผนปฏิบัติงาน มอบหมายให้สำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักงานเขต 50 แห่ง ใส่ใจดูแลรักษาต้นไม้ให้สมบูรณ์ ควบคู่ไปพร้อมกับการตัดแต่งเพื่อช่วยลดความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน

นายยงทวี โพธิษา ผู้อำนวยการส่วนสวนสาธารณะ 2 สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ให้สัมภาษณ์พิเศษถึงแผนการตัดแต่งต้นไม้ในพื้นที่ว่า ในปีงบประมาณ 63 สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม ได้รับผิดชอบดูแลทั้งหมด 40 พื้นที่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ทั่วไป 34 พื้นที่ และตามแนวสายไฟฟ้า 6 พื้นที่ มีจำนวนต้นไม้ที่ต้องถูกดูแลตัดแต่งทั้งสิ้น 18,497 ต้น ซึ่งระยะเวลาในการดำเนินการ จะแบ่งออกเป็นในแต่ละช่วงเดือนตลอดทั้งปี ส่วนวิธีตัดแต่งต้นไม้จะมีขั้นตอนตาม “หลักรุกขกรรม” เข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องสำรวจพื้นที่ก่อนออกเป็นแผน

และในกรณีนอกเหนือจากแผนงบประมาณต้องสำรวจจุดสุ่มเสี่ยง ต้นไม้อาจจะก่อให้เกิดอันตราย จากเดิมการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จะดำเนินการจ้าง กทม. ให้ตัดแต่งต้นไม้ตามแนวสายไฟให้ นับเป็นจำนวนต้นและคิดค่าดำเนินการ ปัจจุบันทาง กฟน. จะรับผิดชอบในส่วนของการตัดต้นไม้บางพื้นที่ของกรุงเทพฯ ตามถนนสายรอง สำหรับ กทม. จะดูแลในถนนสายหลักทุกสาย แต่ กฟน. จะส่งเจ้าหน้าที่มาอบรมร่วมกับ กทม. ในเรื่องการตัดแต่งต้นไม้ด้วย

ผู้อำนวยการส่วนสวนสาธารณะ 2 กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาการตัดแต่งต้นไม้ที่หลายคนร้องเรียนเข้ามาว่าทำไม กทม.ต้องตัดต้นไม้ให้สั้นขนาดนั้น เรื่องนี้ต้องขอชี้แจงว่า ตามปกติแล้วการตัดแต่งต้นไม้ต้องปฏิบัติไปตามหลักรุกขกรรม จัดการต้นไม้อย่างเหมาะสม แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากการ “ละเลยหน้าที่ ขาดการใส่ใจในการปฏิบัติงานและมีความรู้พื้นฐานเรื่องพรรณไม้” ทำให้การตัดแต่ง การคัดเลือกพรรณไม้ทำได้ไม่ดีมากพอ จนเกิดปัญหาขึ้นตามมา โดยการตัดแต่งต้นไม้จนเหลือกิ่งก้านสาขาน้อยมาก จะส่งผลทำให้ต้นไม้มีโอกาสรอดต่ำ เพราะได้รับสารอาหารน้อยลง

ขณะที่ นางมณฑาทิพย์ โสมมีชัย อาจารย์ภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงปัญหาการตัดต้นไม้ในกรุงเทพฯ ว่า ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ไม่มีความรู้เท่าที่ควรในการตัดแต่งต้นไม้ ทั้งการตัดต้นไม้ไม่ได้รูปทรง การตัดต้นไม้สั้นจนไม่เหลือกิ่งก้านใบ ทำให้ต้นไม้อาจตายได้ โดยเรื่องนี้ต้องทราบก่อนว่าต้นไม้ที่ปลูกในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่แล้วปลูกตั้งแต่ปี 25 หากเปรียบต้นไม้เป็นคน คงมีอายุเทียบเท่าคนชรา สภาพร่างกายย่อมมีความเสื่อมไปตามกาลเวลา หากไม่ได้ดูแลรักษาอย่างถูกวิธี

“การเลือกตัดต้นไม้ให้สั้น เป็นการตัดปัญหา ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง สิ่งที่หลายฝ่ายดำเนินการในปัจจุบันเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งหากจะแก้ที่ต้นเหตุ ต้องเลือกวางแผนปฏิบัติตั้งแต่การเลือกพันธุ์ไม้ที่จะนำมาปลูก จากนั้นต้องเลือกพื้นที่ให้เหมาะสม คำนึงถึงต้นไม้แต่ละชนิด มีนิสัยและรูปทรงทางกายภาพแตกต่างกันไป ไป มีความชอบไม่เหมือนกัน ในด้านความต้องการดิน น้ำ อากาศ แสงแดด และอุณหภูมิ หากผู้ปฏิบัติงานทราบถึงรายละเอียดเหล่านี้ ก็จะทำให้ปัญหาลดลง และช่วยประหยัดงบประมาณในการบำรุงรักษาต้นไม้ได้อีกทางหนึ่งด้วย” นางมณฑาทิพย์ กล่าว

ล่าสุด สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เตรียมจัดอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่เรื่องการตัดแต่งดูแลรักษาต้นไม้ โดยจัดอบรมจำนวน 6 รุ่น ซึ่งรุ่นที่ 1-2 อบรมตั้งแต่วันนี้ – 28 ก.พ. บริเวณสวนลุมพินี, อบรมครั้งที่ 3 – 4 วันที่ 3 – 13 มี.ค. บริเวณสวนหลวง ร.9 และอบรมครั้งที่ 5 – 6 วันที่ 17 – 27 มี.ค. บริเวณอุทยานผีเสื้อและแมลง กทม.

ในหัวข้อการให้ความรู้พื้นฐานพรรณไม้ในเมือง, การสำรวจและการจำแนกพรรณไม้, การคัดเลือกพรรณไม้ปลูกเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและภูมิทัศน์เมือง, การใช้อุปกรณ์เครื่องมืออย่างปลอดภัย, การประเมินความเสี่ยงและสุขภาพของต้นไม้, การตัดแต่งและบำรุงรักษาต้นไม้ขนาดใหญ่ เพื่อการเข้าใจลักษณะงาน ลักษณะพรรณไม้ที่อยู่ในพื้นที่ จะทำให้การตัดแต่งต้นไม้เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักรุกขกรรม.