หน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565 เวลา 15.00 น. ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 11 ตามปฏิทินจันทรคติ ปีขาล

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน นัดออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีวาระ 8 ปี การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค 2 ประกอบมาตรา 158 วรรค 4 หรือไม่

ทบทวนความทรงจำ ก่อนที่ปมร้อนวาระนายกฯ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ ใกล้ถึงตอนจบ

มุมฝ่ายค้าน ในฐานะผู้ร้องมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปีแล้ว นับจากวันที่ 24 ส.ค. 2557 ซึ่งเป็นวันที่ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช. ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยแรก

มุม พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้ถูกร้อง ส่งเอกสารชี้แจงมองว่า ตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง ไม่อาจนำระยะเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกมานับรวม เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 สิ้นผลบังคับใช้ไปแล้ว ส่งผลให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก “ขาดตอน” จากวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ (6 เม.ย. 2560) จึงไม่อาจนับรวมระยะเวลา การเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก กับ การเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ได้

เอาเป็นว่า มองข้ามชอตไปเลย วันที่ 30 ก.ย. ภาพเหตุการณ์อนาคตหรือ “ซีเนริโอ” (Scenario) เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ออกได้ 2 หน้าเท่านั้น

(1) หน้าแรก พล.อ.ประยุทธ์ ได้ทำหน้าที่นายกฯ ต่อไป ขึ้นอยู่กับจะเริ่มนับการดำรงตำแหน่ง ช่วงไหนระหว่าง ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 ซึ่งเป็นวันโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 หรือให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2562 ซึ่งเป็นวันที่ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่สอง

แต่ถ้าออกหน้านี้อาจมีปัญหา เพราะฝ่ายค้าน ไม่ได้ยื่นให้วินิจฉัย การนับวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จะนับตั้งแต่เมื่อไร อาจต้องรอปี 2568 ยื่นวินิจฉัย อีกรอบ

(2) หน้าสอง พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อย่างเป็นทางการ ผลกระทบที่ตามมาคือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) สิ้นสุดลงกลายเป็น ครม. ชุดรักษาการ, พล.อ.ประวิตร ทำหน้าที่รักษาการนายกฯ ขัดตาทัพ, ประธานรัฐสภา เรียกเปิดประชุมสภา เลือกนายกฯ คนใหม่ ในบัญชีพรรคการเมือง

ตามเงื่อนไข รัฐธรรมนูญฉบับดีไซน์มาเพื่อพวกเรา กำหนดกติกาให้ช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรก การเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องโหวตในที่ประชุมรัฐสภา โดยคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องได้รับเสียงโหวตเกินกึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

ทว่าหากที่ประชุมรัฐสภา โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรคไม่ได้ รัฐธรรมนูญมาตรา 272 เขียนเปิดช่องให้ ส.ส.-ส.ว. ขอมติที่ประชุม ให้เลือกนายกฯ คนนอก เงื่อนไขสำคัญคือ ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ในการปลดล็อก

จากนั้นเป็นขั้นตอนเสนอชื่อ แบกเสลี่ยงไปอัญเชิญคนนอกเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยต้องต้องมีคะแนนเสียง มากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

หน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย เดินมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ บทสรุปของ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นเช่นไร นับถอยหลังอีกไม่กี่อึดใจได้รู้กัน!