เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหาร สภาผู้แทนราษฎร มีการประชุมเพื่อพิจารณากรณีเรือหลวง (ร.ล.) สุโขทัยอับปาง เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีกำลังพลเสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหาย ซึ่งในส่วนของกองทัพเรือมี พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ เป็นตัวแทนเข้าชี้แจงต่อคณะ กมธ.

ภายหลังการประชุม พล.ร.อ.ชลธิศ ให้สัมภาษณ์ว่า ประเด็นแรกเรื่องของกำลังพลที่อาจติดอยู่ในเรือที่อับปาง จากการตรวจสอบก่อนที่เรือจะอับปางลง กำลังพลทั้งหมดได้ขึ้นมาอยู่ในบริเวณที่ไม่จมน้ำแล้ว แต่เมื่อเรืออับปางไปแล้ว อาจมีพลังดูดของน้ำ โดยขณะนี้หมู่เรือที่เข้าไปสำรวจ และกู้เรือได้ไปถึงพื้นที่แล้ว เป็นเรือลากทำลายทุ่นระเบิด และได้ส่งยานลงไปสำรวจความเสียหาย และวิธีเก็บกู้เรือขึ้นมา ซึ่งในการสำรวจครั้งนี้ จะเป็นการค้นหากำลังพลที่อาจถูกพลังน้ำดูดลงไปด้วย นอกจากนี้ กองทัพเรือยังดำเนินการลาดตระเวนค้นหากำลังพล 23 นาย ที่ยังประสบเหตุอยู่ในทะเล ซึ่งในส่วนนี้ได้มีการปฏิบัติงานร่วมกับกองทัพอากาศ ที่ได้สนับสนุนอากาศยาน รวมถึงยังมีการปฏิบัติงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กรมเจ้าท่า และศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.)

“ทุกนาทีมีค่า กำลังพลที่อยู่ในน้ำเปรียบเสมือนครอบครัว เราคิดถึงเพื่อนร่วมงาน พี่น้อง ฉะนั้นจะดำเนินการเต็มที่ตลอด 24 ชม. ทั้งในเรื่องของเรือ อากาศยาน อากาศยานไร้คนขับ และความร่วมมือของทุกหน่วยงาน”

พล.ร.อ.ชลธิศ กล่าวด้วยว่า สำหรับการแบ่งพื้นที่สำรวจจากจุดที่เรืออับปาง ได้มีการแบ่งคร่าวๆ กว้างยาว ประมาณ 20 ไมล์ทะเล ซึ่งปัจจุบันมีทิศทางน้ำไหลมาทิศใต้ และทิศทางลมไหลเข้าแผ่นดิน แบ่งพื้นที่เป็นหน่วยย่อยออกมา 15 หน่วย ใช้อากาศยานเป็นเครื่องมือหลักในการลาดตระเวน เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว และใช้เรือเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งขณะนี้พบสิ่งของที่มาจากเรือหลวงสุโขทัย และซากเรืออื่นๆ เป็นการพิสูจน์ว่า การดำเนินการค้นหามีทิศทางถูกต้องซึ่งจะดำเนินการต่อไป

เมื่อถามว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือไม่ เสนาธิการทหารเรือกล่าวว่ามีการดำเนินการอยู่ ซึ่งเรื่องสำคัญที่จะต้องทำให้ความจริงปรากฏคือสาเหตุของเรือหลวงสุโขทัยอับปาง เพราะตั้งแต่ตนรับราชการมา 35-36 ปี ไม่เคยพบเจอเหตุในลักษณะนี้ กองทัพเรือจึงอยากหาสาเหตุ เพื่อดำเนินการแก้ไขป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้อีก ซึ่งย้ำว่า กองทัพเรือเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เมื่อถามว่า เหตุเรือสุโขทัยอับปางในครั้งนี้ มีคำสั่งว่านายสั่งไม่ให้เรือจมใช่หรือไม่ เสนาธิการทหารเรือ ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ในขั้นนี้ จะเสนอข้อเท็จจริงเท่านั้น ความเห็นหรือข้อคิดเห็นต่างๆ ตนไม่ขอพูดถึง

“มีความเห็นเป็นจำนวนมาก มีเขาเล่าว่า มีคนนี้คิดว่า มีคนนั้นเห็นว่า แต่ต้องดำเนินการสอบสวน และหาข้อเท็จจริง” เสนาธิการทหารเรือ ระบุ

ทางด้านนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ในฐานะโฆษก กมธ. แถลงผลการเข้าชี้แจงของเสนาธิการทหารเรือและคณะ ว่า กมธ. ได้ขอข้อมูลบันทึกการซ่อมบำรุงย้อนหลังของเรือหลวงสุโขทัย การใช้งบประมาณในการซ่อมแซม บันทึกข้อมูลการประสานงานระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้การเรือหลวงสุโขทัย ในวันที่ 18 ธ.ค. จนถึงเวลาเรืออับปาง ว่า มีการพูดคุยกันระหว่าง ผบ.ทร. กับผู้การเรือหลวงสุโขทัยในช่วงระยะเวลา 7 ชม. ก่อนหน้านั้นอย่างไร รวมถึงขอข้อมูลอุทกศาสตร์กองทัพเรือ ว่า ขณะนั้นคลื่นมีความสูงเท่าไหร่ ความเร็วลมเป็นอย่างไร มีการเตือนภัยก่อนออกเรือหรือไม่ และบันทึกจำนวนชูชีพย้อนหลัง 7 วัน ว่า มีเพียงพอต่อกำลังพลหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า เรือพังจากจุดใด ต้องกู้เรือให้ได้ก่อนจึงจะสามารถทราบสาเหตุได้แน่ชัด โดยเสนาธิการทหารเรือได้ชี้แจงต่อ กมธ. ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัย เนื่องจากภัยธรรมชาติมีคลื่นสูง 4-5 เมตร โดยมีการประคับประคองเรือให้ถึงที่สุดแล้ว

กองทัพเรือยังได้ชี้แจงถึงการเข้าให้ความช่วยเหลือของเรือหลวงกระบุรี และเรืออื่นๆ ที่ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้เพราะคลื่นสูงมาก อีกทั้งผู้การเรือหลวงสุโขทัย แจ้งว่าเรือที่เอียงอยู่ระหว่าง 60-80 องศา การอยู่บนเรือจะปลอดภัยกว่าอยู่บนผิวน้ำ ส่วนเฮลิคอปเตอร์ไม่สามารถบินต่ำได้ เพราะกระแสลมแรง ทั้งนี้ จากการประเมินเบื้องต้น ผบ.ทร. ผู้การเรือหลวงสุโขทัย มีความเป็นห่วงตัวเรือมากพอสมควร เพราะในกองทัพเรือมีคำสั่งว่าเรือจมไม่ได้ เนื่องจากเป็นเรือหลักของกองทัพ ทำให้กำลังพล และผู้การเรือหลวงสุโขทัย ตัดสินใจที่จะปกป้องเรือจนลืมคิดถึงชีวิตตัวเอง

เมื่อถามว่า จะสามารถกู้เรือหลวงสุโขทัยขึ้นมาได้หรือไม่ นายมงคลกิตติ์ ระบุว่ากู้เรือได้ 100% แต่ต้องอาศัยซื้อของเอกชนด้วย เนื่องจากต้องใช้เรือขนาดใหญ่และใช้เครนในการยก ส่วนโอกาสที่กำลังพลที่สูญหายจะมีชีวิตรอดอยู่ ยอมรับว่ามีโอกาสน้อยเนื่องจากผ่านมาหลายวันแล้ว แม้จะมีเสื้อชูชีพ แต่การทำงานของชูชีพอาจจะมีประสิทธิภาพต่ำลง รวมถึงอุณหภูมิในน้ำทะเลมีความหนาวเย็น และยังมีเรื่องสัตว์ใหญ่ในทะเล แต่ยังภาวนาให้พบผู้รอดชีวิต.