เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 4  ต.ค. บริเวณปากซอยพหลโยธิน 35 เขตจตุจักร ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่เยี่ยมชมร้านยารูปแบบใหม่ ที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่าย สปสช. ถึงการประชุมเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ ร่วมกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงแนวทางจัดการน้ำของ กทม. เมื่อวานนี้ (3 ต.ค.) ว่า นายกฯ ต้องการให้ทาง กทม. รายงานสถานการณ์น้ำ และคันกั้นน้ำบริเวณเจ้าพระยา เนื่องจากอาจมีน้ำเหนือที่มาจากต่างจังหวัดเข้ามาที่เจ้าพระยามากขึ้น ซึ่งทาง กทม. ต้องมีการบริหารจัดการน้ำฝนที่อาจตกเพิ่มเติมในช่วงวันที่ 5-7 ต.ค.ที่จะถึงนี้ เพราะเกรงว่าหากยังไม่รีบพร่องน้ำที่มีอยู่ออกไป เมื่อน้ำเหนือเข้ามาแทรกก็อาจทำให้รับมือได้ไม่ทันการ และในช่วงนี้อยากจะขอความร่วมมือจากหลายๆหน่วยงาน ให้มีการ Work from home และหากกลับบ้านให้เร็วขึ้นได้ในช่วงระยะเวลา 3-5 วันนี้ ก็จะดีมาก

ส่วนเรื่องคันกั้นน้ำในตอนนี้ทีมของ รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กำลังดูแลร่วมกันกับทาง สำนักงานกระบาย สำนักงานเขต และกรมโยธาธิการ ซึ่งได้ออกมาตรวจดูบริเวณแนวคันกั้นน้ำทุกวัน และเรื่องนี้ได้มีการประสานงาน กับทางกรมชลประทานตลอดเวลา เนื่องจากทางกรมชลประทานเป็นคนที่เห็นภาพรวมทั้งหมด

ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวต่ออีกว่า นายกรัฐมนตรี ได้มีการสั่งกำชับด้วยความเป็นห่วง กทม. มา 2 เรื่องด้วยกัน 1.เรื่องปริมาณน้ำเหนือที่อาจไหลมาเพิ่มบริเวณเจ้าพระยา และ 2.หาก กทม.ต้องการความช่วยเหลือในเรื่องใดก็สามรถขอความช่วยเหลือมาได้ทันที

ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ภายหลังรับมอบถุงยังชีพ จากบริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิคุณแม่ลี้กิมเกียว ตั้งคารวคุณ จำนวน 5,000 ชุด เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนว่า ในส่วน มาตรการ Work form Home นั้นก็ให้แต่ละหน่วยงานทำด้วยตนเอง เพราะไม่รู้ว่าพนักงานมีการเดินทางอย่างไร ซึ่งแต่ละหน่วยงานน่าจะประเมินสถานการณ์ด้วยตัวเองดีกว่า หน้าที่ของ กทม.จะเตรียมการขนส่ง เสริมในจุดที่มีปัญหา”

ส่วนเรื่องการนัดคุยกับ ผวจ.นนทบุรี ยังไม่ได้มีการนัดหมายอย่างเป็นทางการ แต่อาจจะมีการพบเจอในการลงพื้นที่ ส่วนการทำงานของเจ้าหน้าที่หลังปรับแผน 3 ระยะในการลงพื้นที่ดูแลประชาชนทั้งก่อนฝนตก ขณะฝนตก และหลังฝนตกนั้น พบว่า มีความตื่นตัวทุกคน ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มีการลงพื้นที่ มีการเตรียมรถขนส่งประชาชนในชุมชนที่มีน้ำท่วมขัง.