ประเทศไทยได้ให้การรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติในปี 2558 เพื่อร่วมกันพัฒนาโลกให้มีความสมดุลและยั่งยืน และให้สัตยาบันต่อความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปีต่อมาให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20-25 ภายในปี 2573 โดยรัฐบาลไทยได้ลงนามในสัตยาบรรณต่อที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26) จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net-zero Emissions) ภายในปี 2608

ข้อตกลงดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าไทยตระหนักถึงความสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ความเป็นอยู่ที่ดีของภาคธุรกิจและประชาชน ภาคการเงินซึ่งเป็นตัวกลางในการจัดสรรเงินทุนในระบบเศรษฐกิจ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของประเทศจึงได้เริ่มนำแนวคิดการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) มาผนวกในกลยุทธ์การทำธุรกิจซึ่งคำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ในทุกกระบวนการอย่างจริงจัง

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ภายใต้บทบาทการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (Thailand Development Bank) EXIM BANK ให้ความสำคัญกับการขยายความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนตลอดจนลูกค้าที่มีศักยภาพ เพื่อร่วมกันสร้างเศรษฐกิจ BCG ที่สอดรับการพัฒนาทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเมกะเทรนด์ในโลกยุค Next Normal และมุ่งสู่การเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ของกระทรวงการคลังแห่งแรกที่เป็น Green Bank อีกด้วย

“EXIM BANK ตั้งเป้ามุ่งสู่ Green Bank ด้วยการจัดโครงสร้างสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการ BCG โดยให้มีสัดส่วน 50% ของพอร์ตภายใน 3 ปีข้างหน้า และจะระดมทุนด้วยการออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) อย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นเงินทุนสนับสนุนธุรกิจสีเขียวหรือธุรกิจที่ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยได้ออกพันธบัตรล็อตแรกจำหน่ายแล้วเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565 จำนวน 2 รุ่น วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท” ดร.รักษ์ กล่าว

ยอดจองซื้อพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทะลุ 2 เท่าของเป้าหมายมูลค่ารวม 5,000 ล้านบาท ท่ามกลางดอกเบี้ยขาขึ้นและเศรษฐกิจผันผวน มีอันดับความน่าเชื่อถือ (Rating) สูงสุดระดับ AAA (thai) จาก Fitch Ratings นอกจากนี้ EXIM BANK เป็นธนาคารเฉพาะกิจของรัฐแห่งแรกที่จัดตั้งกรอบการระดมทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Framework) และยังเป็นผู้ออกพันธบัตรรายแรกของไทยที่ออกพันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อมที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THOR (Thai Overnight Repurchase Rate) เป็นรายแรกของประเทศไทย ซึ่งถือเป็น Financial Innovation ของตลาดพันธบัตรไทย

ดร.รักษ์ กล่าวว่า จากกระแสตอบรับที่ดี และแนวโน้มความต้องการลงทุนในพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมีมากขึ้น ทำให้ธนาคารเตรียมออก Sustainability Bond จำหน่ายอีกครั้งในต้นปีหน้า เพื่อระดมทุนรองรับการขยายธุรกิจของผู้ประกอบการไทยที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, social and governance : ESG) โดย EXIM BANK ตั้งเป้าหมายจะขยายสินเชื่อให้แก่ธุรกิจ BCG เป็น 100,000 ล้านบาทภายในปี 2570 และมุ่งเน้นการสร้างผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Supply Chain การส่งออก ให้ดำเนินธุรกิจบนหลัก ESG อาทิ มีระบบ Zero Waste สามารถนำกากของเสียจากโรงงานกลับเข้าสู่กระบวนการผลิต หมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ผลิตภัณฑ์ของ EXIM BANK อาทิ สินเชื่อเพื่อสนับสนุนการลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาหรือ EXIM Solar Orchestra by Biz Transformation Loan วงเงินกู้ 7 ปี ให้กู้ 100% ของเงินลงทุนเพื่อชำระผู้รับเหมาเมื่อติดตั้งเสร็จ อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปี พร้อมสิทธิขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต และสิทธิยกเว้นภาษี 50% ของเงินลงทุนเป็นเวลา 3 ปีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อช่วยกิจการประหยัดค่าไฟและแก้ปัญหาโลกร้อน และสินเชื่อ EXIM Biz Transformation Loan สนับสนุนการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 100 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลาผ่อนสูงสุด 7 ปี

ปัจจุบันพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ถือว่าเป็นตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็วและได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นเมกกะเทรนด์ที่สำคัญของโลกในยุค Next Normal ความริเริ่มของ EXIM BANK ในวันนี้จึงสอดรับกับการทำหน้าที่ “ธนาคารเพื่อการพัฒนา” อย่างยั่งยืน เพื่อสร้างโลกใบนี้ให้ดีกว่าเดิม